รายงานข่าวจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เผยว่า บริษัทยังมุ่งมั่นผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพที่ดีสู่ผู้บริโภค ด้วยคุณภาพและความปลอดภัยมาตรฐานระดับโลก และตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างคน คือ การสร้างความยั่งยืนขององค์กร
นางวิไลลักษณ์ คลอดเพ็ง รักษาการผู้บริหารสูงสุด สายงานประกันคุณภาพอาหารกลาง ด้านประกันคุณภาพอาหารกลาง ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจยึดมั่นในวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก ที่มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยได้ประกาศนโยบายคุณภาพซีพีเอฟ (Quality Policy) เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงการสร้างความตระหนักด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหารให้กับพนักงานในองค์กร
โดยดำเนินการผ่านโครงการ CPF Food Safety & Quality Culture ที่นำร่องมาตั้งแต่ ปี 2563 ที่โรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี ปัจจุบันได้ขยายผลประยุกต์ใช้กับกลุ่มธุรกิจเดียวกันที่โรงงานโคราช มีนบุรี บางนา และกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ได้แก่ โรงงานแปรรูปสุกร โรงคัดไข่บ้านนา โรงงานแปรรูปไข่บ้านนา โรงงานอาหารสำเร็จรูป โรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ รวม 7 กลุ่มธุรกิจ จำนวน 12 โรงงาน โดยมีเป้าหมายดำเนินงานครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจและทุกโรงงาน ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568)
ทั้งนี้ในยุคที่เทรนด์โลกตื่นตัวด้านความยั่งยืน กลยุทธ์การดำเนินงานด้านประกันคุณภาพต้องปรับให้สอดคล้องกันในทุกมิติ ซึ่งหัวใจสำคัญของความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ หากได้รับความร่วมมือจากพนักงานทุกคน ด้วยการปลูกฝังวัฒนธรรมและทัศนคติด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ในทุกขั้นตอนของการผลิต ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยที่เป็นสากล เพื่อเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ทำให้เกิดความปลอดภัยกับผู้บริโภค สร้างความไว้วางใจ ความพึงพอใจ และความจงรักภักดีต่อสินค้า
สำหรับในด้านความปลอดภัยของสินค้า ก่อนส่งมอบให้กับผู้บริโภค ซีพีเอฟได้จัดทำโครงการพัฒนาชุดตรวจสอบสินค้าร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นการตรวจวิเคราะห์ที่แม่นยำ รวดเร็ว ลดแรงงานคน ของเสีย น้ำเสีย ลดเวลาการจัดเก็บสินค้า สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและรักษาคุณภาพของสินค้าได้อย่างสม่ำเสมอ สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้บริโภคว่าจะได้รับอาหารที่มีคุณภาพสม่ำเสมอทั้งด้านรสชาติ สี เนื้อสัมผัส กลิ่น ความอร่อย โดยสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบประสาทสัมผัสครอบคลุมในทุกธุรกิจ และตั้งศูนย์ทดสอบด้านประสาทสัมผัส (Sensory evaluation center) ที่สามารถสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อทำหน้าที่ทดสอบคุณภาพสินค้าด้านประสาทสัมผัส ซึ่งภายในปี 2023 ซีพีเอฟ มีจำนวนผู้ผ่านการทดสอบทั้ง 7 กลุ่มธุรกิจ รวม 630 คน
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG (Environment Social Governance) ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดและประเมินผลการดำเนินงานของธุรกิจ เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม มีการบริหารจัดการองค์กรที่ดีบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล เพื่อส่งเสริมธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งซีพีเอฟ ยึดมั่นในวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลก (Kitchen of the World)ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด