ทั้งนี้นิทรรศการ “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6” หรือ “5th Decades of Thai Agricultural Research Development and Advancing into the 6th decade” จะมีขึ้น ณ Helix Garden ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจากนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานเปิดงาน
การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารบทบาท ภารกิจ และผลงานของกรมวิชาการเกษตรตลอดระเวลา 50 ปี หรือ 5 ทศวรรษที่ผ่านมาในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างกรมวิชาการเกษตรกับกลุ่มเป้าหมายที่จะนำไปสู่การสร้างทัศนคติที่ดีให้กับกรมวิชาการเกษตร รวมถึงได้รับทราบถึงการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศในภาพรวม
ไฮไลน์สำคัญภายในงานนอกจากจะได้พบกับส่วนการจัดแสดงนิทรรศการประวัติกรมวิชาการเกษตร การเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจเพื่อระดมความเห็นและชี้แนะแนวทางจากกูรูภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกิจกรรมการแสดงบนเวทีและร่วมสนุกภายในงานแล้ว อีกไฮไลน์ที่สำคัญคือ ส่วนการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยเทคโนโลยี และนวัตกรรม 50 ปี เพื่อแสดงถึงความสำเร็จของงานวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกมาจัดแสดงกว่า 20 ผลงาน
ตัวอย่างผลงานวิจัยที่จะนำมาจัดแสดงในครั้งนี้ที่เอกชนสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศ การส่งออกนำเม็ดเงินเข้าประเทศ รวมถึงยังช่วยให้เกษตรกรต้นน้ำสามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช อาทิ
“จากเห็ดฟาง สู่ความงามอย่างอ่อนเยาว์” เห็ดฟางดอกบานที่ใกล้หมดอายุการวางจำหน่าย และมีราคาต่ำได้ถูกนำมาผลิตเป็นโปรตีนไฮโดรไลเซท สำหรับเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวผสมสมุนไพร โดยสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื่น เรียบเนียน เพิ่มความยืดหยุ่น และยกกระชับ ลดความหมองคล้ำ ซึ่งผลิตภัณฑ์โลชั่นที่ได้จากการวิจัยนี้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส
“การควบคุมศัตรูพืชด้วยชีวภัณฑ์” ผลงานวิจัยที่มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และสภาพแวดล้อม ช่วยป้องกันกำจัดศัตรูพืชทั้งโรคพืชและแมลงที่เป็นศัตรูพืชของพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เพื่อทดแทนการใช้สารเคมี ที่ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลลงสู่กลุ่มเกษตรกรแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 รายทั่วประเทศ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้
“สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2 สับปะรดสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูป” เป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรในการปลูกทดแทนพันธุ์ปัตตาเวีย ช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ และช่วยให้โรงงานแปรรูปที่ใช้สับปะรดพันธุ์เพชรบุรี 2 เป็นวัตถุดิบมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 30,327 ล้านบาท ในช่วงปี 2560-2564
“กฤษณา ไม้มีค่า อนาคตไกล” จากไม้กฤษณาเป็นไม้ที่มีมูลค่าสูง สารกฤษณามีกลิ่นหอมเฉพาะ สามารถใช้เป็นเครื่องหอมและยาสมุนไพรที่มีราคาแพง โดยกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการงานตามอนุสัญญา CITES ในการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนแปลงปลูกให้สอดคล้องกับบริบทการปลูกไม้กฤษณาของเกษตรกรไทยและข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ โดยข้อมูลปี 2564 ไทยมีปริมาณการส่งออกไม้กฤษณาเป็นอันดับ 3 ของโลก มีมูลค่าถึง 2,033 ล้านบาท
“การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร”เพื่อเข้าสู่โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) โดยกรมวิชาการเกษตรจะมีรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการที่ช่วยให้เกษตรกรในกลุ่มพืชนำร่องเช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอื่น ๆ หรือพืชยืนต้นที่มีเอกสารสิทธิ์ สามารถนำไปปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร นอกเหนือจากการขายผลผลิตทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต