นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวบนเวทีเสวนา “ความมั่นคงทางอาหารภายใต้ปรากฎการณ์ El Niño และโอกาสการค้าตลาดคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืชของไทย” ว่าในประเทศไทยวันนี้ถูกกระทบแล้วเพราะปริมาณน้ำลดลงทำให้เพาะปลูกไม่ได้ แต่บางพื้นที่ยังสามารถปรับได้เช่นในการปลูกข้าวจะใช้น้ำจำนวนมาก วิธีแก้ง่ายๆแบบกำปั้นทุบดินคือหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย
ซึ่งบังเอิญ "ข้าวโพด" เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของน้ำที่ใช้ปลูกข้าวนาปรัง และบังเอิญที่ข้าวโพดในประเทศไทยไม่พอใช้สำหรับภาคปศุสัตว์ที่ใช้ข้าวโพดประมาณ 8 ล้านตัน แต่ปัจจุบันไทยสามารถผลิตได้เพียง 5 ล้านตันยังขาดอีก 3 ล้านตัน ส่วนนี้เป็นโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้หลังนาปีสามารถผลิตข้าวโพดได้ 3 ล้านตัน
ส่วนในภาคปศุสัตว์จะได้รับกระทบอย่างมากจากปรากฏการณ์เอลนีโญในเรื่องของ “ราคา” เพราะอุปทานมีน้อยกว่าอุปสงค์ ขณะที่ “วัตถุดิบปศุสัตว์” นอกจากประเด็นด้านภูมิอากาศหรือใกล้เคียงแล้วยังมี 2 ประเด็นที่กระทบมากกว่าคือสงครามรัสเซียกับยูเครน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ
และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมารัสเซียออกมาประกาศบล็อคเรือหรือไม่ต่ออายุการเดินเรือโดยมีเงื่อนไข 5 ข้อ ซึ่งคาดว่าไม่มีใครรับเงื่อนไขนี้ได้ ผลที่ตามมาคือทำให้วัตถุดิบที่สามารถทดแทนที่ขาดไปเช่นข้าวสาลีจะราคาสูงขึ้นไปอีกเนื่องจากประเทศไทยต้องนำเข้าจากยูเครน
ประเด็นต่อมาคือ “นโยบายรัฐ” ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการทำปศุสัตว์ต่อเนื่องจากวัตถุดิบ หมายความว่าเมื่อมองเรื่องของปศุสัตว์จำเป็นต้องมองทั้งห่วงโซ่ ไม่ใช่มองแค่ข้าวโพด ข้าวหรือมันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ แต่จะต้องมองถึงคนเลี้ยง เนื้อ อาหาร และการส่งออกไปต่างประเทศด้วย ซึ่งที่ผ่านมา 4 ปีรัฐบาลไม่ได้มองครบทั้งห่วงโซ่
“อุปสรรคที่เรายังผลิตอีก 3 ล้านตันไม่ได้เพราะยังติดที่นโยบาย การผลิตข้าวโพดหลังนาของจริงเราเห็น 3 ล้านตันชัดๆว่าสามารถปั้นได้เลยแต่จะต้องใช้พลังเยอะกว่านี้เช่นไปชวนเกษตรกรที่ปลูกข้าวให้เข้ามาปลูกข้าวโพดเพิ่ม เพราะเราต้องการประมาณ 3 ล้านไร่++ เพราะ1 ไร่ให้ผลผลิตประมาณ 700-800 กิโลกรัม เราจะต้องใช้เวลาสื่อสารและเข้าไปสนับสนุนเพราะตลาดมีอยู่แล้วและที่สำคัญราคาดีมากๆ ตอนนี้เราตั้งเป้าเข้าไปคุยกับธกส.และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อพยายามเริ่มทำข้าวโพดหลังนาในฤดูกาลนี้ให้ได้ 2-3 ล้านตัน เพื่อลดการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน”