ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่อพุ่งยาวถึงปีหน้า สวนทางราคาหมูดิ่ง

25 ก.ค. 2566 | 10:16 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2566 | 10:48 น.

สมรรถพล ยุทธพิชัย : นักวิชาการภาคปศุสัตว์ เขียนบทความสะท้อนปัญหาอุปสรรคภาคปุศัตว์ไทย ที่ยังต้องเผชิญวิบากกรรมไม่รู้จบ โดยล่าสุดราคาวัตถุดิบอาหารสำคัญจ่อพุ่งสูงขึ้นอีก ผลต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ

ความมั่นคงทางอาหารทั่วโลกสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อรัสเซียตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงซึ่งอนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชผ่านทางทะเลดำ หลังเกิดเหตุโดรนโจมตีสะพานสำคัญที่เชื่อมไครเมียกับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซีย ซึ่งต่อมารัสเซียก็โต้กลับด้วยการโจมตีโกดังเก็บธัญพืชหลายจุดที่ท่าเรือติดทะเลดำของยูเครนทำให้ธัญพืชเสียหายถึงกว่า 60,000 ตัน

ตลอดเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ข้อตกลงธัญพืชทะเลดำซึ่งมีสหประชาชาติกับตุรกีเป็นตัวกลางเจรจา ทำให้ยูเครนสามารถส่งออกธัญพืชได้มากกว่า 32 ล้านตัน แต่การปฏิเสธต่ออายุสัญญาของรัสเซีย อาจทำให้การส่งออกต้องหยุดลง และนั่นหมายถึงปริมาณผลผลิตธัญพืชในตลาดโลกย่อมได้รับผลกระทบ  

เมื่อผนวกปัญหาเอลนีโญก็ยิ่งต้องคิดหนัก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและความแห้งแล้ง กำลังส่งผลลบโดยตรงต่อธัญพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์และผลผลิตทางการเกษตรในหลาย ๆ พื้นที่เกษตรของโลก เมื่อความต้องการไม่ได้ลดลงแต่ผลผลิตหายไป ประเมินได้ไม่ยากเลยว่า ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์จะพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า หรืออย่างน้อยก็ถึงช่วงที่สถานการณ์เอลนีโญสงบลง รวมถึงการยุติสงครามสองประเทศ ยูเครน-รัสเซีย

และก็เป็นดังคาด เมื่อราคาข้าวสาลี, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลืองในตลาดโลกยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาสัญญาล่วงหน้าข้าวสาลีที่มีการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ CBOT ทะยานขึ้นกว่า 8% ขณะที่ราคาสัญญาล่วงหน้าข้าวโพดพุ่งขึ้นเกือบ 5% ส่วนราคาสัญญาล่วงหน้าถั่วเหลืองดีดตัวกว่า 1%

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่อพุ่งยาวถึงปีหน้า  สวนทางราคาหมูดิ่ง

เมื่อราคาพืชวัตถุดิบต่าง ๆ ของทั้งโลกมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นนี้ คงถึงเวลาที่ประเทศไทยของเราต้องกลับมาทบทวนโยบายวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศที่ซ้ำเติมภาวะต้นทุนให้คนเลี้ยงสัตว์บอบช้ำเสมอมา การที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีต้นทุนการผลิตสูงมาก ล่าสุด สูงถึง 96 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) แต่ขายหมูหน้าฟาร์มได้เพียง 58-62 บาทต่อ กก.  ไม่สอดคล้องกับต้นทุนแบบนี้ นับเป็นหายนะไม่ใช่เพียงของเกษตรกร แต่เป็นของไทยทั้งประเทศ เพราะไม่มีธุรกิจใดจะอยู่รอดได้ และหากรัฐเพิกเฉยไม่พยายามลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกร อาจล้มกันระเนระนาดกันทั้งระบบ   

จริงอยู่ว่าราคาหมูที่ดิ่งลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “หมูเถื่อน” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าเพราะต้นทุนที่สูงของหมูไทยจึงเป็นช่องว่างให้หมูเถื่อนแทรกตลาดเข้ามาได้ง่าย การจัดการเรื่องต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งเป็น 60-70% ของต้นทุนทั้งหมด จึงถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยอยู่รอดได้

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ส่อพุ่งยาวถึงปีหน้า  สวนทางราคาหมูดิ่ง

ปัญหาลูกโซ่เช่นนี้เรียกได้ว่าวัดกึ๋นการบริหารจัดการของรัฐบาล จะอ้างเป็นรัฐบาลรักษาการก็คงฟังไม่ขึ้น เพราะเรื่องนี้มีสัญญาณเตือนมานานแล้ว จะปล่อยเกษตรกรเดือดร้อนต่อไปเรื่อย ๆ รอจนกว่าจะได้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ชุดใหม่ ซึ่งไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ คนเป็นเกษตรกรคงทำได้เพียง วาดฝันกับ “รัฐบาลใหม่” ที่จะเข้ามาเผชิญความท้าทายนี้ และฝันต่อไปถึง “เจ้ากระทรวงพาณิชย์คนใหม่” ที่หวังว่าจะเร่งแก้ปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้รอบคอบ กวาดบ้านตัวเอง ปรับโครงสร้างราคาวัตถุดิบในประเทศให้เรียบร้อย ก่อนลุกลามบานปลายเป็นความไม่มั่นคงทางอาหารของชาติได้