กรมวิชาการเกษตร วางมาตรฐาน GAP ดันผลไม้ไทยส่งออกแสนล้าน

20 ส.ค. 2566 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ส.ค. 2566 | 12:37 น.

กรมวิชาการเกษตร วางมาตรฐาน “GAP” หนุน ผัก-ผลไม้ไทย ส่งออกแสนล้าน พร้อมขยายช่องทางระบบขนส่งเพิ่มยอดการส่งออก ลดระยะเวลาถึงปลายทาง ช่วยคงคุณภาพสินค้าให้ได้ตามมาตรฐาน

วันนี้ (20 สิงหาคม 2566) ที่ เฮลิกซ์ การ์เด้น ชั้น 5 ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ กรุงเทพฯ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยในงานเสวนา "การส่งออกผักผลไม้ไทย "แสนล้าน" สู่ตลาดโลก : เงื่อนไขกฎระเบียบและแนวโน้มการส่งออก" ภายใต้งานนิทรรศการ "5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6" กรมวิชาการเกษตร 

นายระพีภัทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกรมวิชาการเกษตร ได้ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ แบบบูรณาการ ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จ รวมทั้งผักผลไม้ไทยถือว่ามีคุณภาพที่ดีอยู่แล้วทำให้การส่งออกดี เป็นที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ

โดยบทบาทของหน้าที่กรมยังคงดูเรื่อง "พันธุ์พืช" จะมีการรักษาพันธุ์พืชที่เราเป็นแชมป์ ว่าจะทำอย่างไรให้ผลผลิตออกมาสูง และมีรสชาติดี ควบคู่กับการใช้ระบบการเกษตรที่ดี (GAP

ขณะที่ประเทศจีนเองได้มีการออกกฎระเบียบ ในการนำเข้าผลไม้จะต้องมีมาตรฐาน "GAP" ทำให้เราเร่งให้ความรู้เกษตรกรในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน GAP และให้สามารถผ่านการขึ้นทะเบียนดังกล่าวได้และเพิ่มปริมาณการนำสินค้าส่งออกไปยังประเทศจีน ในรูปแบบสินค้าที่มีคุณภาพ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทาง กรมวิชาการเกษตร ได้ตั้ง "คณะทำงานผลไม้คุณภาพ" โดยมีรองอธิบดีเป็นประธาน และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมกันทำงาน รวมไปถึงภาคเอกชนที่เข้ามาทำงานร่วมกัน ถือเป็นครั้งแรกในการจัดตั้งคณะทำงานนี้ 

และเป็นมิติใหม่ที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการเพิ่มกำลังเข้ามาจากหน่วยงานอื่นๆ ในกระทรวง เพื่อช่วยตรวจคุณภาพต่างๆ แม้จะไม่ใช่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็สามารถทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรได้

ซึ่งมีการอบรมบุคลากรกรมอื่นๆ ที่เข้ามาร่วมทำงาน จนทำให้สามารถถ่ายทอดให้ความรู้กับเกษตรกรได้ ควบคู่ในการทำงานกับกรมวิชาการเกษตร จนสามารถการผลักดันให้เกิดผลไม้คุณภาพเป็นที่ยอมรับ และส่งออกได้มากขึ้นถึงระดับแสนล้านบาท

ทั้งนี้อยากเน้นย้ำว่า แม้จะมีการเพิ่มปริมาณการผลิตสินค้าผลไม้ไทยในระยะข้างหน้า เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในการส่งออก 

แต่ยังต้องคงคุณภาพของผลไม้ไทย และต้องแบ่งเกรดราคาสินค้าตามคุณภาพของสินค้า เพื่อควบคุมคุณภาพ และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค เราคงต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์ให้ดี ในการพัฒนาสินค้าเกษตรไทย 

ทั้งการขยายพื้นที่เพาะปลูก ควบคู่การพัฒนาคุณภาพ รวมทั้งอาจจะต้องหารือผู้ประกอบการในการจัดตั้งกองทุน เพื่อควบคุมคุณภาพหรือให้เป็นไปตามหลัก "GAP

นอกจากนี้ยังจะต้องมีการระดมความเห็น และหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำงาน จะต้องมีการจัดสรรงบประมาณมาดูแลในเรื่องนี้เพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยได้อย่างต่อเนื่อง

ระบบขนส่งหัวใจสำคัญการส่งออก "ผักผลไม้ไทย"

นายจรินทร์ บุตรริเดช เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม ระบุว่า การขนส่งสินค้าข้ามแดน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย โดยที่ผ่านมาทาง กรมวิชาการเกษตร ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยจัดส่งสินค้า จากไทยไปประเทศจีน เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าผ่านช่องทางการขนส่งผ่านแดน

จากจุดเริ่มแรกใช้เส้นทาง มุกดาหารไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และไปที่มณฑลกวางสี ประเทศจีน ถือได้ว่าเป็นเส้นทางแรกเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาทางบก ก่อนจะมีเส้นทางเชียงของเพิ่มเติมไปยังจีนตะวันตก ทำให้การระบายสินค้าออกนอกประเทศมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

นายจรินทร์ บุตรริเดช เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครพนม

แม้การขนส่งทางเรือจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการส่งสินค้าทางบก แต่ใช้ระยะเวลา 8 ถึง 10 วัน กว่าสินค้าจะถึงปลายทางที่ประเทศจีน ซึ่งการขนส่งทางบกนั้น ช่วยลดระยะเวลาในการขนส่งโดยเฉพาะทุเรียนทำให้ยังคงคุณภาพไว้ได้จากระยะเวลาการจัดส่งที่เร็วขึ้น

หลังกรมวิชาการเกษตรเข้ามาช่วยเหลือในการเจรจาเส้นทางการขนส่ง ทำให้มีพื้นที่ต่างๆ กระจายออกไปรวม 6 ด่าน โดยขนส่งออกจาก จ.นครพนม เป็นหลักกว่า 250 ตู้ต่อวัน ผ่านเส้นทางรถไฟ ลาว-จีน (รองรับวันละ 100 ตู้) โดยในปัจจุบันมีการขนส่งไปแล้ว 1,600 ตู้

ซึ่งการมีเส้นทางขนส่งทางบกนั้นช่วยให้สามารถระบายการขนส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้น และยังช่วยคงคุณภาพสินค้า ทั้งรสชาติและความสดใหม่ของผลไม้ไทย

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมพัฒนาการขนส่งทางรางเข้าสู่รถไฟลาว-จีน ให้สามารถขนถ่ายตู้ได้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น และทำให้การขนส่งผลไม้จากแหลมฉบังไปถึงจีน อาจใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น

บรรยากาศงาน “5 ทศวรรษแห่งการพัฒนาวิชาการเกษตรไทย และการก้าวไปในทศวรรษที่ 6”