จากประเด็นข่าว "ทุเรียนไทย" ถูกจีนตีกลับเนื่องจากพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน (Mudaria luteileprosa) กรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กรมได้รับหนังสือการแจ้งเตือนจากสำนักงานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน(GACC) ผ่านทางทูตเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง สั่งการให้ตรวจสอบย้อนกลับแต่ละชิปเม้นท์ของทุเรียนดังกล่าวแล้ว
วันนี้ ( 22 ส.ค.66) เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้มอบหมายให้นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมประชุมผ่าน zoom กับนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร,นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ประธาน ศพก.ชุมพร ตัวแทนล้ง ประชุมด่วนเพื่อถกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาทุเรียนส่งออกที่ถูกแจ้งเตือนจากจีน และการคัดเลือกทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก”
รวมถึงให้ตระหนักถึงการระบาดของหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนและการป้องกันกำจัด การคัดเลือกผลทุเรียนปราศจากโรคและหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน ขณะเดียวกันและในวันเดียวกันสั่งการให้นางสาวฉันทนา คงนคร ผอ.สวพ.7 พร้อมด้วยนายชัยศักดิ์ รินเกลื่อน ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบ และรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ตรวจสอบล้งทุเรียนในจังหวัดชุมพร ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
“กรมวิชาการเกษตรหลังจากที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว จะเตรียมสั่งระงับล้งที่ถูกแจ้งเตือนจากจีน กรณีที่ถูกแจ้งเตือน พบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนเนื่องจากส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งออกทุเรียนไทย ในภาพรวมของประเทศ และข้อตกลงตามมาตรการสุขอนามัยพืชของทั้งสองประเทศ ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช พ.ศ. 2563 กล่าวคือ ต้องรักษาสถานภาพการรับรองมาตรฐานที่ได้ขอขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร"
นายระพีภัทร์ กล่าวอีกว่า การทำงานได้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งทางจังหวัดชุมพร กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้นำชุมชน และผู้นำศาสนา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการปลูกทุเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อผลิตเป็นทุเรียนส่งออกประเทศจีน ดังนั้นต้องขอความร่วมมือล้ง ให้มีความซื่อสัตย์ มีจรรยาบรรณ ให้เป็นเหมือน ซอฟต์พาวเวอร์ไทย แบบสมัครใจ นี่ดีที่สุด ให้ควบคู่ไปกับการกำหนดมาตรการ แต่จะให้กรมดูแลยากเพราะหนอนอยู่ข้างในเมล็ด กว่าจะเติบโตออกมาก็ต้องใช้เวลา 1-2 สัปดาห์กว่าจะไปถึงด่านจีน ไม่ใช่อยู่ภายนอกแบบเพลี้ยแป้ง หรือเพลี้ยหอยที่สามารถทำความสะอาดได้
“ปัจจุบันทุเรียนที่เกิดปัญหา เป็นทุเรียนที่ส่งเข้าโรงงานแปรรูป และรับประทานในประเทศ ไม่เคยส่งออกเลย ดังนั้นหากเกษตรกร อยากจะนำสวนเข้าสู่แปลงมาตรฐาน ทางกรมได้มีการขับเคลื่อนแผนบูรณาการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ผ่านเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านผู้นำชุมชน และทางจังหวัดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อให้ทุเรียนประเทศไทยมีมาตรฐานเดียวกัน"
นายระพีภัทร์ กล่าวด้วยว่า ตรวจสอบคุณภาพทุเรียนใต้อย่างต่อเนื่องจนหมดฤดูกาล และมีการบูรณาการร่วมกับทุกฝ่ายที่ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ทุเรียนไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมีการบูรณาการกับทุกภาคส่วน คุมเข้มทุเรียนภาคใต้ส่งออกไปจีนต้องได้คุณภาพ ปลอดการปนเปื้อนศัตรูพืชเด็ดขาด และต้องตรวจสอบย้อนกลับได้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 จีนได้ขึ้นทะเบียนให้กับสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ไทย 13 ชนิด โดยเป็นทุเรียนกว่า 72,488 แปลง แปลง พร้อมเสนอของบประมาณจากรัฐบาลใหม่สนับสนุนการตรวจสอบควบคุมคุณภาพทุเรียนให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามการเพาะปลูกทุเรียนที่มีเพิ่มมากขึ้น มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันมูลค่าการส่งออกให้ถึงแสนล้านบาทต่อปีอย่างต่อเนื่องได้อย่างแน่นอน
สำหรับ "ทุเรียนไทย" ยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดจีนอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีทุเรียนคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม และอนาคตยังไปต่อได้อีกไกล เพราะคนจีนกว่าครึ่งประเทศยังไม่ได้รับประทานทุเรียนไทย สิ่งสำคัญคือการรักษาคุณภาพให้มีความสม่ำเสมอ ตั้งแต่สวน โรงคัดบรรจุ ไปจนถึงการส่งออก และควรมีการวาง position ของทุเรียนเกรดพรี่เมียมของไทยให้มีราคาที่สูงขึ้นจากทุเรียนทั่วไป เพื่อเจาะตลาดระดับบนในจีนที่มีกำลังซื้อสูงด้วย
กรมวิชาการเกษตร ได้วางแนวทางผลักดันทุเรียนไทยให้มีมูลค่าส่งออกแสนล้านต่อปีไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงระบบ e-Phyto ในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate: PC) กับระบบของสำนักงานศุลกากรจีน (GACC) การพัฒนา application ตรวจสอบปริมาณผลผลิตเชื่อมโยงกับระบบ e-Phyto เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ใบรับรอง GAP
ตลอดจนการพัฒนาระบบ e-service สำหรับการรับรอง GAP ของแปลง การออกใบรับรอง DOA ของโรงคัดบรรจุ และการออกใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate: HC) และอนาคตยังมองไปถึงการจัดตั้ง กองทุนทุเรียนคุณภาพไทย (Thai Quality Durian Fund) เพื่อนำรายได้จากการส่งออกส่วนหนึ่งมาต่อยอดพัฒนายกระดับการผลิตทุเรียนทั้งระบบให้มีคุณภาพมาตรฐานในระยะยาว สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน
ดังนั้น จึงขอให้มั่นใจว่า “กรมวิชาการเกษตร พร้อมเป็นสายลมใต้ปีก ผลักดันการบริการ และอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ เพื่อบรรลุเป้าหมายมูลค่าส่งออกแสนล้านบาทต่อปี สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน ภายใต้ภาวะการณ์แข่งขัน”