ส่งออกทุเรียนไปจีนทำนิวไฮ มั่นใจพุ่งสูงสุดรอบ 30 ปี

12 มิ.ย. 2566 | 07:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2566 | 08:35 น.

2 นายกฯ ชี้ปี 66 ปีทองทุเรียนไทย มั่นใจส่งออกทำนิวไฮรอบ 30 ปี จับตาทุเรียนเวียดนามมาแรง ส่งเข้าตลาดจีนวันละ 100 ตู้ ขย่มราคาไทยอ่อนตัว จี้เข้มคุณภาพทุเรียนใต้รับไม้ต่อภาคตะวันออก พร้อมเตรียมแผนปี 67 สร้างความชัดเจนผลผลิต หลังจีนเปิดทางสะดวกทุกช่องทางขนส่ง

ฝ่ายเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว อัพเดท สถานการณ์ “ทุเรียน” ซึ่งเป็นผลไม้ที่ตลาดจีนมีความต้องการสูง ขณะที่ประเทศผู้ผลิตทุเรียนต่าง ๆ ในอาเซียนต่างเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดทุเรียนไทยที่เป็นเจ้าตลาดในจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนสดที่จีนอนุญาตให้นำเข้าได้จากไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันสวนทุเรียนเวียดนามที่ได้รับขึ้นทะเบียนส่งออกไปจีนกับทางสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 246 สวน โรงคัดบรรจุ 97 แห่ง ขณะที่สวนทุเรียนฟิลิปปินส์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ GACC มีจำนวน 58 สวน โรงคัดบรรจุ 5 แห่ง รวมถึงทุเรียนที่เพาะปลูกในมณฑลไห่หนานจะเริ่มให้ผลผลิตล็อตแรกในเดือนมิถุนายนนี้

สัญชัย ปุรณะชัยคีรี

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ได้ค้าขายผลไม้มา 30 ปี ปีนี้โดยเฉพาะทุเรียนถือเป็นปีที่ดีที่สุด คาดส่งออกทำนิวไฮ(ปี 2565 ไทยส่งออกทุเรียนสด 1.10 แสนล้านบาท) และถือเป็นปีทองของทุเรียนภาคตะวันออกที่ราคายืนระดับสูงตั้งแต่ต้นฤดูจนจบฤดูกาล สร้างความรํ่ารวยให้กับชาวสวน คาดทองคำ และรถเบนซ์น่าจะขายดีที่สุดในภาคตะวันออก มีปัจจัยหลักจาก 1.การขนส่งไปตลาดจีนไม่มีอุปสรรค (กราฟิกประกอบ)โดยส่งออกได้สูงสุด 700 ถึงกว่า 800 ตู้ต่อวัน และผลผลิตไม่ได้รับความเสียหาย 2.การตรวจโควิดของจีนมีการผ่อนปรน

ส่งออกทุเรียนไปจีนทำนิวไฮ มั่นใจพุ่งสูงสุดรอบ 30 ปี

 

3.อากาศร้อนทำให้ปีนี้ทุเรียนมีรสชาติที่ดี 4.ไทยมีมาตรการคุมเข้มทุเรียนอ่อนที่เข้มงวดมาก ทำให้มีปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งเรื่องทุเรียนอ่อนนี้ขอให้ชาวสวนช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่เช่นนั้นจะเป็นโอกาสของคู่แข่งอย่างเวียดนาม ที่ปัจจุบันส่งออกทุเรียนไปจีนวันละ 100 ตู้ ในช่วงเดือนมิถุนายน และกำลังจะโตขึ้นเรื่อย ๆ

“วันนี้ราคาทุเรียนไทยปรับตัวลงมา จากทุเรียนเวียดนามเริ่มออกสู่ตลาด บวกกับทุเรียนทางภาคใต้ของไทยก็เริ่มออกมาแล้ว ซึ่งผลผลิตทุเรียนของภาคใต้ปีนี้ คาดจะมีผลผลิตยาวไปถึงเดือนกันยายน และคาดไม่มีปัญหาด้านราคา”

วุฒิชัย คุณเจตน์

สอดคล้องกับ นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย ที่กล่าวว่า การส่งออกทุเรียนไทยโดยภาพรวมมีการส่งออกแบบก้าวกระโดด และการขยายตัวสูงในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ที่น่าจับตาคือ ทุเรียนหลีเสา (ก้านยาวเวียดนาม) ที่เข้าตลาดจีนทีไร ทำให้ราคาทุเรียนไทยอ่อนตัวทันที โดยเฉพาะในตลาดล่าง ถือเป็นประเด็นที่น่ากังวล เนื่องจากต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่า ดังนั้นไทยจะต้องเร่งพัฒนาเรื่องการลดต้นทุนให้ตํ่าลง

ส่งออกทุเรียนไปจีนทำนิวไฮ มั่นใจพุ่งสูงสุดรอบ 30 ปี

ส่วน “ฟิลิปปินส์” ยังถือเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุเรียนพื้นบ้าน อย่างไรก็ดีราคาทุเรียนภาคตะวันออกของไทย ราคาอยู่ในช่วงปรับตัวลดลง จากเคยขึ้นไปสูงสุดราคาหน้าสวนกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากสินค้าคุณภาพดีขาดตลาด และความต้องการสูง ประกอบกับชาวจีนมีกำลังซื้อต่อเนื่อง แต่ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน คุณภาพทุเรียนจะด้อยกว่าช่วงเดือนเมษายน และราคาตลาดปลายทางปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาทุเรียนหน้าสวนเวลานี้ลงมาอยู่ที่ระดับ 140-150 บาทต่อกก. ขณะที่ทุเรียนภาคตะวันออกในช่วงกลางเดือนมิ.ย.นี้จะสิ้นฤดูกาลแล้ว และจะเข้าสู่ฤดูผลผลิตทุเรียนของภาคใต้จะเริ่มออกสู่ตลาด ดังนั้นต้องเน้นเรื่องคุณภาพ

 

“สัปดาห์นี้ต้องจับตาอีกครั้งเพราะได้รับรายงานว่าสภาพปลายทางไม่ค่อยดี ตลาดชะลอตัว และกระจายตัวยากขึ้นจะให้ราคาปรับลงอีกอย่างต่อเนื่อง ส่วนปีหน้าเรื่องความผันผวนของราคาเราก็มีตัวกลางสะท้อนห่วงโซ่นี้ว่าตลาดปลายทางสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบ้าง โดยได้รับความร่วมมือจากทูตเกษตรทำให้ทุกคนได้เห็นภาพจริงทั้งหมด จากปีนี้แม้สินค้าจะมากขึ้น แต่ก็มีการวางแผนเส้นทางทั้งทางเรือ ทางด่านต่าง ๆ ให้ขยายเวลาเพิ่มขึ้นในการขนส่งทางบก เรียกว่าปีนี้ขนส่งไม่มีปัญหาเลย ส่วนทางรถไฟ เป็นทางเลือก ซึ่งจะทำให้ปีหน้าจีนจะรับสินค้าได้เพิ่มขึ้น และช่วยระบายสินค้าได้”

แต่ทั้งนี้ไทยต้องจะต้องคาดการณ์ผลผลิตในแต่ละช่วงได้อย่างแม่นยำ ไม่ใช่ผลิตมาขายไปเหมือนในอดีต เพราะเวลานี้ไทยส่งออกทุเรียนไปตลาดจีนที่เป็นตลาดหลักปีละกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว ดังนั้นต้องบริหารจัดการข้อมูลให้มีความชัดเจน และแม่นยำเพื่อวางแผนบริหารจัดการ

ส่งออกทุเรียนไปจีนทำนิวไฮ มั่นใจพุ่งสูงสุดรอบ 30 ปี

ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จากนโยบายของนางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผลจากความสำเร็จในการควบคุมคุณภาพการบริหาร “จันทบุรีโมดล” จึงได้สั่งการให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 สุราษฎร์ธานี (สวพ.) 7 ควบคุมคุณภาพทุเรียนต่อเนื่อง โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ในวันที่ 10 มิถุนายน 2566

ส่งออกทุเรียนไปจีนทำนิวไฮ มั่นใจพุ่งสูงสุดรอบ 30 ปี

สำหรับสถานประกอบการ (ล้ง) ที่ประสงค์จะส่งออก ก่อนประกาศวันเก็บเกี่ยวทุเรียนที่กำหนดต้องแจ้ง ศวพ.จังหวัดในพื้นที่ ตรวจล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน โดยในปีนี้ประเมินผลผลิตทุเรียนภาคใต้จะมีประมาณ 667,338 ตัน เพิ่มขึ้น 48.7% จากปีที่แล้วมีผลผลิต 448,695 ตัน

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,895 วันที่ 11-14 มิถุนายน พ.ศ. 2566