ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ราคาข้าวโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี โดยเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของไทย ซึ่งถูกใช้เป็นราคาข้าวอ้างอิงในตลาดโลก ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 50.3% เมื่อเทียบกับเดือนส.ค.ปี 2565 มาอยู่ที่ 648 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี โดยมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
SCB EIC ประเมินแนวโน้มราคาข้าวโลกออกเป็น 2 กรณี ขึ้นกับความรุนแรงของเอลนีโญ และการดำเนินนโยบายส่งออกข้าวของอินเดีย คือ
"โดยในกรณีฐาน คาดว่า ราคาข้าวโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 35%YOY(เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) ในช่วง ส.ค.-ธ.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 15%YOY ในปี 2567 แต่หากเป็นกรณีรุนแรง คาดว่า ราคาข้าวโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงราว 50%YOY ในช่วง ส.ค.- ธ.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 36% YOY ในปี 2567" บทวิเคราะห์ ระบุ
ราคาข้าวโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไทยมีการส่งออกข้าวไปตลาดโลกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 38.6% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด โดยในช่วง ส.ค.-ธ.ค.2566 ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 29.6%YOY ในกรณีฐาน และเพิ่มขึ้น 42.5%YOY ในกรณีรุนแรง
"ส่วนในปี 2567 คาดว่าในกรณีฐาน ราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.9% ส่วนกรณีรุนแรงราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 30.6% มาอยู่ที่ 14,663 บาทต่อตัน ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ของไทย" บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ คงปฎิเสธไม่ได้ว่า "ข้าว" เป็นอาหารหลักของคนไทย ดังนั้น ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไป เพราะข้าวเปลือกเป็นต้นทุนหลักในการผลิตข้าวสาร ทำให้ในช่วงที่ราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินเฟ้อไทยผ่านค่าใช้จ่ายผู้บริโภคเกี่ยวกับข้าว
ในระยะต่อไป คาดว่าผู้ค้าข้าวสารในประเทศจะเริ่มส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากอัตราการเพิ่มขึ้นสะสมของราคาข้าวเปลือกจะกลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นสะสมของอัตราเงินเฟ้อหมวดที่เกี่ยวกับข้าว ส่งผลให้กำไรของผู้ประกอบการหดตัว หากไม่มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภค
ในการจัดเก็บข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) จากกระทรวงพาณิชย์ ข้าวจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และมีสัดส่วนน้ำหนักอยู่ในตะกร้าเงินเฟ้อที่ราว 3.2% จากสัดส่วนสินค้าทั้งหมด ซึ่งในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินว่า ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปี (ส.ค.-ธ.ค.66) 0.26% แต่ในกรณีรุนแรง เงินเฟ้อทั่วไปอาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 0.37%
SCB EIC มองว่า ผลกระทบต่อเงินเฟ้อดังกล่าวคำนึงถึงเพียงผลโดยตรงจากราคาข้าวที่มีผลต่อดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค
แต่ในความเป็นจริงราคาข้าวที่เปลี่ยนแปลงไป จะมีผลต่อกลุ่มสินค้าหมวดอื่นด้วย (Second-round effect) โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าหมวดอาหารสำเร็จรูป (อาหารบริโภคในบ้าน และนอกบ้าน)
"SCB EIC ประเมินผลรวมจากราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้น จะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปี 0.45% และ 0.66% ในกรณีฐานและกรณีรุนแรง ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2567 ราคาข้าวที่จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มขึ้น 0.38% ในกรณีฐาน และอาจสูงถึง 0.91% ในกรณีรุนแรง" บทวิเคราะห์ ระบุ
ดังนั้น ในภาพรวมราคาข้าวเปลือกที่จะทยอยปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากหลายปัจจัยดังที่กล่าวไป นับว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเพิ่มสูงขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปี 2567
นับเป็นโจทย์ท้าทายหนึ่งในโจทย์แรก ๆ ด้านค่าครองชีพที่เป็นการบ้านรอต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่อยู่