หวั่นศัตรูพืชและอุปสงค์จากจีน ดันราคาข้าวตลาดโลกพุ่งต่อ

12 ส.ค. 2566 | 23:08 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2566 | 23:52 น.

จีนเจอแมลงศัตรูพืชเล่นงานนาข้าว ส่งผลกระทบต่อผลผลิตในประเทศ จนอาจจำเป็นต้องนำเข้าเพิ่มเติมเพื่ออุปสงค์ในประเทศ ส่อดันราคาในตลาดโลกที่สูงทำสถิติอยู่แล้ว พุ่งขึ้นต่อไปอีก

 

เกษตรกรของจีน กำลังเผชิญกับการโจมตีของ ศัตรูพืช เร็วกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ เนื่องจาก สภาพอากาศที่รุนแรง เร่งการแพร่กระจายและการเติบโตของ โรคและแมลงศัตรูพืช ที่ทำลายล้าง เช่น หนอนผีเสื้อในฤดูใบไม้ร่วง สถานการณ์ดังกล่าวทำให้พืชผลหลัก ๆ เช่น ข้าวโพดและข้าวเผชิญความเสี่ยงอย่างมาก และอาจทำให้จีนจำเป็นต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นเพื่อ ความมั่นคงทางอาหาร ภายในประเทศ 

ทั้งนี้ เนื่องจากข้าวโพดและข้าวเป็นอาหารหลักที่สำคัญของโลกซึ่งกำลังเจอกับภัยคุกคามด้านอุปทานในประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดย จีนเป็นผู้ผลิตและนำเข้าธัญพืชรายใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อเลี้ยงประชากรหลายพันล้านคน

นาข้าวของจีนกำลังเผชิญภัยคุกคามจากแมลงศัตรูพืช

สภาพอากาศแปรเปลี่ยนกระพือปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช

องค์การอาหารและเกษตร (FAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า ศัตรูพืชที่ทำลายพืชผลกำลังสร้างความเสียหายมากขึ้นและเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ขึ้นต่อความมั่นคงทางอาหารของโลก อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐบาลจีนรายงานว่า ภาวะฝนตกหนักและลมแรง รวมถึงพายุไต้ฝุ่น “ทกซูรี” ที่พัดถล่มเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้กลายมาเป็นปัจจัยร่วมที่ช่วยในการอพยพของแมลง และการแพร่กระจายของโรคพืช

กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนเปิดเผยว่า พบแมลงกัดกินนาข้าวและไร่ข้าวโพดในพื้นที่เพาะปลูกหลักทางตอนเหนือและตอนใต้ของจีนในปีนี้ และนอกจากภาวะฝนตกและน้ำท่วมแล้ว อากาศที่อบอุ่นขึ้นยังช่วยในการแพร่กระจายของแมลงศัตรูพืชอีกด้วย

นายหู เกา ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยการเกษตรหนานจิงกล่าวว่า "สภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้นซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลกระทบอย่างมากต่อการอพยพและการเกิดโรคพืชและแมลงศัตรูพืช และเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากการบุกรุกนั้นค่อนข้างผิดปกติ"

นอกจากนี้ ยังระบุถึง ศัตรูพืชที่สำคัญ 2 ตัว ได้แก่

  • เพลี้ยกระโดด
  • หนอนม้วนใบ

ซึ่งศัตรูพืชทั้งสองชนิดดังกล่าวกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทำลายผลผลิตข้าว โดยการทำลายที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของจีนซึ่งมีการปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่นั้นรุนแรงกว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้เขาระบุเสริมว่า ผลกระทบต่อการผลิตยังไม่มากนักจนถึงขณะนี้ก็ตาม

ความเสียหายของผลผลิตข้าวอาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดโลก หากจีนจำเป็นต้องนำเข้าข้าวมากขึ้น

ราคาข้าวพุ่งทำสถิติอีกครั้งช่วงสัปดาห์นี้

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความเสียหายของผลผลิตข้าวอาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อตลาดโลก หากจีนจำเป็นต้องนำเข้าข้าวมากขึ้น โดยราคาข้าวในเอเชียนั้น ได้พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปีแล้วในสัปดาห์นี้เนื่องจากปัญหาด้านอุปทาน

ทั้งนี้ ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปีในช่วงปลายสัปดาห์นี้ จากความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญและภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศผู้ส่งออกหลัก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ไทย หรือเวียดนาม ปรับตัวลดลง โดยล่าสุดราคาข้าวสาร 5% ของไทย ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในภูมิภาคเอเชียได้ทะยานขึ้นไปแตะระดับ 648 ดอลลาร์ต่อตันแล้ว หลังจากที่อยู่ในระดับ 572 ดอลลาร์ต่อตันช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลว่า ราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ อาจส่งผลกระทบกับประชากรโลกหลายพันล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และข้าวมีสัดส่วนสูงถึง 60-70% ของพลังงานจากอาหารที่ผู้คนเหล่านี้บริโภคต่อวัน

บลูมเบิร์กรายงานว่า นอกจาก "ภัยแล้ง" จากปรากฏการณ์เอลนีโญแล้ว ราคาข้าวในปัจจุบันยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

  • ปัญหาความขัดแย้งในยูเครน หลังรัสเซียยกเลิกข้อตกลงที่อนุญาตให้ยูเครนขนส่งธัญพืชผ่านทะเลดำ
  • การที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ในวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา 
  • และไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 แจ้งเตือนให้เกษตรกรในประเทศลดการเพาะปลูกในปีนี้ลงด้วย

โจเซฟ กลอเบอร์ นักวิชาการอาวุโสขององค์กร International Food Policy ให้ความเห็นว่า ราคาข้าวที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อในหมวดอาหาร ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนโดยตรงให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในภูมิภาคเอเชียที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก "เรายังต้องจับตาดูด้วยว่าหลังจากอินเดียแบนการส่งออกข้าวแล้ว ยังจะมีประเทศอื่นๆ เดินรอยตามอีกหรือไม่” 

ด้านปีเตอร์ ทิมเมอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหาร ระบุว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลง ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลทำให้ผลผลิตข้าวลดต่ำลงตามไปด้วย และเมื่อการผลิตข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของหลายประเทศตกต่ำลง รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากไม่ต้องการให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น

“ราคาข้าวในตลาดโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนมากขึ้นจากปัญหาภัยแล้งและความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยมีความเป็นไปได้ที่ราคาข้าวจะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อตันภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า แต่คำถามคือการปรับขึ้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทะลุระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อตันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2008 ที่ทั้งอินเดียและเวียดนามต่างก็ห้ามการส่งออกพร้อมกัน” 

สอดคล้องกับทรรศนะของชัว ฮัก บิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Maybank Investment Banking Group ในสิงคโปร์ ที่กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร จะทำให้หลายประเทศหันมาใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการห้ามส่งออกสินค้าที่เชื่อว่าจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

ข้อมูลอ้างอิง