นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วันที่ 13 กันยายน 2566 เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อพิจารณาเรื่องนโยบายพักหนี้เกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
“ที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้เป็นผู้ไปดำเนินการ โดยที่ผ่านมายอมรับว่าได้ทำงานไปมากแล้ว แต่ในเรื่องกลไกที่ต้องใช้มีเรื่องของกลไกภาครัฐ ซึ่งจะต้องเริ่มจากการที่ครม.มีมติในเรื่องนี้มีกรรมการไปฟอร์มทีม พร้อมทั้งพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งผ่านบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะส่งเรื่องมาที่กระทรวงการคลังและเสนอเข้าครม.อีกครั้ง”
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ในการประชุมครม. ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้กรอบเวลาในการดำเนินมาตรการพักหนี้ ให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อสรุปกรอบการดำเนินงานทั้งหมดมาเสนอให้กับที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง โดยจะทำให้เร็วที่สุด
รมช.คลัง กล่าวว่า ในการหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ จะมีทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เป็นหลัก ที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้วเบื้องต้นซึ่งทุกองคาพยพตอบรับการดำเนินมาตรการพักหนี้ด้วยดี และเชื่อว่าจะสามารถทำได้โดยเร็วตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลตั้งไว้
สำหรับแนวทางการดำเนินการพักหนี้ โดยจะพักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี และรัฐบาลจะรับผิดชอบภาระที่เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ได้เสนอแนวความคิดมายังกระทรวงการคลังหลายอย่างแล้ว เพื่อช่วยลดภาระให้กับเกษตรกร โดยจะมีนโยบายอื่น ๆ ดำเนินการควบคู่กันกับเรื่องของการพักหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินแล่งทุน และมาตรการด้านการเกษตร ทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และการเจรจาการค้าต่าง ๆ