นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2566 เป็นต้นไป
สำหรับเหตุผลของการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เป็นผลมาจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2566 ต่อรัฐสภาด้านการประมง โดยรัฐบาลมีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ และประชาชนอีกครั้ง ด้วยการแก้ไขกฎหมาย และการบังคับใช้ให้เหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ทางทะเลอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ปัญหาจากการเร่งรีบตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมงอย่างรีบด่วน เพื่อแก้ปัญหาการแจ้งเตือน (การให้ใบเหลือง) จากสหภาพยุโรปว่า ประเทศไทยอาจถูกระบุให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU FISHING) ทำให้ในปี 2558 ได้มีกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นอย่างเร่งรีบนั้น
ทำให้มีหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องต่อข้อเท็จจริงของปัญหาการประมงของประเทศและบริบทการทำการประมงของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมากถึง 30 ล้านล้านบาท เรือประมงลดจำนวนลงมากกว่าครึ่ง และสุดท้ายประเทศไทยต้องนำเข้าสัตว์น้ำ ทั้ง ๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศผู้ส่งออกลำดับหนึ่งของโลก
ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจากอุตสาหกรรม การประมงและกิจการต่อเนื่องที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา จึงมีความจำเป็นต้องแต่งตั้ง คณะกรรมการแก้ไขปัญหา การประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง
โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 (6) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมง ทะเลและอุตสาหกรรมการประมง
ส่วนกรรมการจะมาจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 19 คน ประกอบไปด้วย
1.ศึกษา ทบทวน ข้อแจ้งเตือน กฎระเบียบของสหภาพยุโรป (EU) และ องค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO : International Plan of Action to Prevent, Deter and Eliminate Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) และวิเคราะห์ปัญหา ผลกระทบต่อการประมงและอุตสาหกรรมประมงประเทศไทย จากการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเจรจาระหว่างกันอีกครั้งต่อไป
2.ศึกษา ทบทวน พิจารณาสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายประมงไทยให้สอดคล้อง เหมาะสมกับบริบทของการประมงไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ
3.ดำเนินการเจรจากับองค์กรระหว่างประเทศและประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ EU เพื่อให้ประเทศไทยได้คืนสิทธิการประมงดังเดิม โดยเฉพาะการประมงท้องถิ่นที่ปฏิบัติมาอย่างช้านาน
4.เสนอมาตรการเยียวยาและแก้ไขผลกระทบต่อชาวประมงและอุตสาหกรรมประมง และการฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมงไทย
5.ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี
แต่งตั้งอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านกฎหมาย การบริหารจัดการ การเจรจาระหว่างประเทศ และการช่วยเหลือชาวประมง
ทั้งนี้ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ยังกำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุนการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการให้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์โดยเร็ว
พร้อมทั้งให้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งนี้ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่ แต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการชุดนี้ เบิกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอันจำเป็นต่อการปฏิบัติงานได้ตามระเบียบของ ทางราชการ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณของกรมประมง