นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง เจ้าของธุรกิจคานเรือและธุรกิจโรงงานปลาป่น เปิดเผยว่า จากข้อตกลงเรื่องอาฟต้า และผลจากการเปิดอาเซียนช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนกรณีปัญหา-อุปสรรคการลงทุนในประเทศไทย
โดยเฉพาะกรณีตัวอย่างของปัญหามาบตาพุด ส่งผลให้เกิดกระแสความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการ และนักลงทุนในภูมิภาคทั้งไทยและต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้ และกำลังที่จะเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มทุนเกี่ยวกับ ยางพารา,ปาล์มน้ำมัน,แปรรูปสัตว์น้ำ,เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ,ไม้เฟอร์นิเจอร์ฯ
มีแนวความคิดที่จะโยกย้ายฐานการผลิตจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย สปป.ลาว และเมียนมา ที่ขณะนี้มีนักลงทุนจากระนอง และในพื้นที่ภาคใต้ และต่างชาติหลายคนสนใจ เพราะวัตถุดิบที่มีปริมาณมาก ทั้งยังมีค่าแรงที่ถูกกว่าไทยหลายเท่าตัว
“การลงทุนในประเทศ ผู้ประกอบการต่างต้องดิ้นรนด้วยตนเอง แทบจะไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือส่งเสริมจากภาครัฐเลย ทั้งที่ปัจจุบันมีปัญหา และอุปสรรคต่างๆมากมาย อาทิ การลงทุนก่อตั้งโรงงานในพื้นที่ต้องต่อสู้กับกระแสการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ การตรวจที่เข้มข้นของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม
ผู้ประกอบการมองดูแล้วเหมือนไม่ต้องการให้โรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงมีแนวคิดหาฐานการผลิตใหม่ ประกอบกับการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียนหรืออาฟต้าที่อาจจะส่งผลให้การโยกย้ายฐานการผลิตมีความคล่องตัวมากขึ้น”
จากกรอบข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้าของกลุ่มอาเซียนโดยกำหนดให้แต่ละประเทศต้องลดกำแพงภาษีสินค้า การลดลงของภาษีในแต่ละกลุ่มสินค้า จะส่งผลดีและผลเสียต่อการค้าการลงทุน สิ่งที่ดีที่สุดคือการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ในส่วนของการค้า นอกจากการรับมือการสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะทะลักเข้ามายังไทยแล้ว จะต้องเร่งหาช่องทางที่จะขยายตลาดการค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะถือเป็นโอกาสที่ดีที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย
นายกฤษณะ กล่าวว่า จากที่ได้พบกับนักธุรกิจชาวพม่าทำให้ทราบว่า แท้จริงนักธุรกิจชาวพม่า โดยเฉพาะทางพื้นที่ตอนใต้ของประเทศในย่านมะริดและทวาย ซึ่งเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจ,อุตสาหกรรมสำคัญ ต้องการค้าขาย หรือร่วมทำธุรกิจกับนักธุรกิจไทยมากกว่านักธุรกิจในประเทศอื่น โดยเฉพาะจีน เพราะมองว่าการค้าขายไม่ได้สินค้าคุณภาพแล้ว การขนส่งสินค้ายังเป็นไปด้วยความยากลำบาก
แต่การค้าขาย หรือทำธุรกิจร่วมกับนักธุรกิจไทย ติดปัญหาหรือความหวาดระแวงต่อกัน ซึ่งสามารถขจัดได้ด้วยการพบปะพูดคุยกันมากขึ้น หากทำได้ตนเชื่อว่าการค้าขาย การลงทุนในย่านทางตอนใต้ของประเทศจะสามารถขยายตัวได้อีกมาก ทั้งยังเป็นช่องทางที่สำคัญที่นักธุรกิจไทยจะขยายการค้า การลงทุน
พม่าถือเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงที่กำลังพัฒนาประเทศ ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางการตลาดมากมายทั้งในส่วนของสินค้าอุปโภค-บริโภค,สินค้าเกษตร,การค้า,การลงทุน,อุตสาหกรรม แต่แทนที่พ่อค้า หรือผู้ประกอบการจากไทย จะได้เปรียบเนื่องจากอยู่ติดกับพม่ามากที่สุด แต่กลับกลายเป็นเสียเปรียบ
เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลทำให้เมียนมาเกิดความไม่ไว้วางใจ ส่งผลต่อการค้า-การลงทุน รัฐบาลเมียนมามักจะไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการจากไทย แต่จากผลของการเปิดเสรีทางการค้า เชื่อว่าในส่วนของการลงทุนน่าจะเปิดกว้างมากขึ้น จะเป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนจากไทยที่จะเข้าไปลงทุน
เช่นเดียวกับใน พื้นที่จ.ระนอง ปัจจุบันนี้มีนักลงทุนจากมาเลเซียสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และจีน เข้ามาหาข้อมูลเป็นจำนวนมาก เพื่อลงทุนรับการขยายตัวของการค้า เนื่องจากประเทศเมียนมาเป็นแหล่งวัตถุดิบราคาถูกทั้งสัตว์น้ำ สินค้าการเกษตร ไม้ ฯ
และผลจากการเปิดเสรีทางการค้าคาดว่าในระยะยาวจะส่งผลดีให้กับจ.ระนอง เนื่องจากเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการเป็นจุดผ่านของสินค้าทั้งจากพม่าสู่ไทยและจากไทยไปยังเมียนมา