มีความคืบหน้าในนโยบาย "เปลี่ยนที่ดินส.ป.ก.เป็นโฉนด" ซึ่งค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า จะแล้วเสร็จเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย
วันนี้ (21ต.ค.66) นายสุรชัย ยุทธชนะ รองเลขาธิการ สปก. บรรยายพิเศษถึง "นโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด ส.ป.ก.ที่โรงแรมอินเตอร์ฯ จ.ภูเก็ต ในงานสัมมนา สส.พรรคพลังประชารัฐ
โดยรองเลขาฯส.ป.ก.ระบุว่า เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการปรับให้สอดคล้องกับเหตุผลและความจำเป็น โดยสปก.4-01 มีข้อจำกัดเรื่องสิทธิประโยชน์และการควบคุมใช้ประโยชน์ในที่ดินให้โอนได้เฉพาะทายาทและเครือญาติ
แต่ในข้อเท็จจริงยังมีการเปลี่ยนมือตลอด จึงมีแนวคิดแก้ระเบียบในการเปลี่ยน ส.ป.ก.ทั้งการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ ระเบียบว่าด้วยการพัฒนาประโยชน์และระเบียบว่าด้วยการหลักเกณฑ์กู้เงินกองทุน
"สำหรับเงื่อนไขการเปลี่ยน สปก.เป็นโฉนด ต้องเร่งรัดให้เสร็จตามที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จะมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนชาวไทย ไม่เกินวันที่ 15 มกราคม 2567" รองเลขาฯส.ป.ก. กล่าว
โดยหลักเกณฑ์เบื้องต้น ผู้ที่จะเปลี่ยนส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดที่ควบคุมและอยู่ภายกำกับภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ต้องถือครองส.ป.ก.ไม่น้อยกว่า 5 ปี หากเป็นการโอนให้กับทายาทต้องทำตามระเบียบกฎหมาย
รองเลขาฯ ส.ป.ก. กล่าวว่า ที่หลายคนเป็นห่วงว่าหากเปลี่ยนโฉนด ที่ดินจะไปอยู่ในมือของนายทุน ยืนยันว่าจะมีการควบคุมดูแลเรื่องการโอนและเปลี่ยนมือให้ทำได้ คือผู้ที่โอนจะต้องเป็นเกษตรกรและใช้พื้นที่เพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ไม่เกิน 50 ไร่ เมื่อกำหนดหลักเกณฑ์นี้จะได้รับการควบคุมดูแล
ขณะนี้อนุกรรมการฯ ที่ดูแลเรื่องระเบียบต่างๆ จะเร่งไขแก้ระเบียบให้แล้วเสร็จในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีความคืบหน้าแล้ว โดยวันที่ 24 ตุลาคมนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเตรียมการในเรื่องดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการบรรยายเรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจจาก สส.จำนวนมาก โดยสอบถามถึงรายละเอียดขั้นตอนการเปลี่ยนส.ป.ก.หลังครอบครอง 5 ปี จะทำได้จริงหรือไม่ และหลังการซื้อขายเปลี่ยนมือ รวมถึงกรณีหากมีการเปลี่ยนมือ จะต้องเสียภาษีอย่างไรเป็นต้น
โดยรองเลขาฯส.ป.ก.ระบุว่า ในรายละเอียด เมื่อมีการแก้ไขสามารถโอนและซื้อขายได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบ และเน้นย้ำว่าเป็นที่ดินเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนขั้นตอนอื่นๆ ดำเนินการได้ ส.ป.ก.จังหวัดนั้นๆ