คปก. ไฟเขียวเปลี่ยนชื่อโฉนด ส.ป.ก. เป็น "โฉนดเพื่อเกษตรกรรม"

25 ต.ค. 2566 | 01:52 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2566 | 02:02 น.

คปก.ไฟเขียว หลัง “ธรรมนัส” นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน เคาะชื่อที่ดิน ส.ป.ก. ใหม่เป็น”โฉนดเพื่อกษตรกรรม” เดินหน้าเริ่มแจกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกได้ทันวันที่ 15 มกราคม 2567

ความคืบหน้าภายหลังจาก ส.ป.ก. 4-01 ยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 11 ข้อ พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายและระเบียบ คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อปรับปรุงสิทธิการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการได้ประชุมพิจารณาแก้ไขระเบียบ คปก. ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566

ล่าสุด ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ คปก. ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม คปก.  ได้มีมติรับทราบความก้าวหน้าในการแก้ไขระเบียบ คปก. ทั้ง 3 ฉบับ ตามที่คณะอนุกรรมการเสนอ ซึ่งถือว่าเป็นความคืบหน้าตาม Roadmap ที่ได้วางไว้ในการยกระดับเอกสารสิทธิเป็น "โฉนดเพื่อเกษตรกรรม" ซึ่งหลังจากนี้ ส.ป.ก. จะได้นำร่างระเบียบ คปก. ทั้ง 3 ฉบับ ไปดำเนินการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป และจะนำกลับมาให้ คปก. เห็นชอบร่างฉบับสุดท้ายเพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 และจะเริ่มแจกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกได้ทันวันที่ 15 มกราคม 2567 อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการปรับปรุงระเบียบ คปก. ภายใต้กรอบแนวทางจำนวน 4 ข้อ ดังนี้

  • เห็นควรกำหนดชื่อเอกสารว่า “โฉนดเพื่อเกษตรกรรม
  •  กำหนดแนวทางในการเปลี่ยนมือไว้ 2 วิธี คือ การตกทอดทางมรดก และการซื้อขายหรือการจำนองแบบมีเงื่อนไข โดยไม่ใช่การซื้อขายหรือจำนองกับนายทุน
  • กำหนดให้มีการตรวจสอบติดตามการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยกำหนดโครงสร้างการตรวจสอบที่มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยอาจแต่งตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบติดตามทุก 5 ปี โดยมีคณะกรรมการจังหวัดซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และปฏิรูปที่ดินจังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการ
  •  กำหนดให้มีการบูรณาการโดยนำสหกรณ์การเกษตร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้การปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่เป็นการสร้างองค์กรใหม่

เปลี่ยนชื่อที่ดิน ส.ป.ก. เป็น โฉนดเพื่อเกษตรกรรม

"เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้และจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน" และได้กล่าวย้ำว่า "โฉนดเพื่อเกษตรกรรมนั้นมีสิทธิไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าโฉนดที่ดินของกระทรวงมหาดไทย เพราะนอกจากพี่น้องเกษตรกรจะได้รับที่ดินทำกินแล้ว ส.ป.ก. ยังเข้าไปพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นทั้งถนน แหล่งน้ำ ระบบกระจายน้ำ ระบบไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ การสนับสนุนเงินทุนในการประกอบอาชีพ และขอฝากทิ้งท้าย เชิญชวนให้เกษตรกรเข้ามาทำประชาพิจารณ์ด้วย".