ภาคการส่งออกของไทย เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ยังอยู่ในแดนลบ (-3.8%) จากผลพวงเศรษฐกิจ และการค้าโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากเงินเฟ้อส่งผลกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค และมีความเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่อาจขยายวง และส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัวรอบใหม่ ส่งผลไทยต้องเร่งหาตลาดใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อขยายการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ที่ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต ที่เป็นอีกหนึ่งกลุ่มประเทศที่ไทยมีแผนเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA)
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากไทยสามารถจัดทำ FTA ไทย-GCC ได้ จะทำให้การค้า และการลงทุนระหว่างไทยกับกลุ่ม GCC ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดอย่างแน่นอน จากในปีที่ผ่านมาการค้าไทย-GCC มีมูลค่า 39,103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.36 ล้านล้านบาท (หากก้าวกระโดดได้ 2 เท่า เท่ากับกว่า 2 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ยังสามารถขยายตลาดไปยังประเทศตะวันออกกลางอื่น ๆ ได้ด้วย
ทั้งนี้ตลาด GCC มีปัจจัยบวกที่สำคัญคือ 1.เป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงสุดในตะวันออกกลาง มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ ทำให้มีความต้องการสินค้ามาก 2.เป็นตลาดที่ต้องนำเข้าอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบอื่น ๆ และ 3. เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของตะวันออกกลาง
ส่วนปัจจัยลบคือ 1.เป็นตลาดที่แข่งขันรุนแรง ปัจจุบันสินค้าหลักส่วนใหญ่มาจาก อินเดีย จีน ยุโรป สหรัฐ เวียดนาม 2.นักธุรกิจอินเดีย ทำธุรกิจกลางศูนย์กระจายสินค้า ห้างสรรพสินค้า ทำให้สินค้าไทยที่เข้าไปต้องผ่านพ่อค้าคนกลางอินเดีย 3.ไทยขาดข้อมูลการตลาด และกิจกรรมการทำตลาด ที่สามารถเจาะกลุ่มลูกค้าในตะวันออกกลาง 4.หลายสิบปีที่ผ่านมา ตลาดซาอุฯ แม้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดใน GCC แต่ไทยมีการค้ากับ UAE แซงหน้าซาอุฯ จากมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ แต่ปัจุบันคลี่คลายลงแล้ว และ 5.ภาคเอกชนไทยยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชนในตะวันออกกลางน้อยเกินไป
สำหรับประเทศในตะวันออกกลางมี 18 ประเทศ ประชากรรวม 467 ล้านคน โดยประชากรของกลุ่ม GCC มี 57 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรของซาอุฯ สัดส่วน 60% ตามด้วย UAE โดย GCC มีขนาด GDP เท่ากับ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วน 50% เป็นของเศรษฐกิจของซาอุฯ ตามด้วย UAE ขณะที่รายได้ต่อหัว กาตาร์มีรายได้ต่อคนต่อปีสูงสุดที่ 9 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วย UAE โดยทั้ง 6 ประเทศ ของ GCC มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 51% ของเศรษฐกิจในตะวันออก (4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมีขนาด 2.2% ของ GDP โลก สำหรับประเทศไทยพึ่งพิงตลาด GCC โดยไทยส่งออกไป GCC คิดเป็นสัดส่วน 2.39% (ในปี 2565)
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2556-2565) ไทยส่งออกไป GCC ลดลงจากระดับ 7,000 ล้านดอลลาร์ เหลือระดับ 6,000 ล้านดอลลาร์ (ข้อมูลปี 2565 ไทยส่งออก 6,861 ล้านดอลลาร์) ขณะที่ไทยมีการนำเข้าจาก GCC เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 30,000 หมื่นดอลลาร์ (ข้อมูลปี 2565 มูลค่านำเข้า 32,242 ล้านดอลลาร์) ทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับ GCC กว่า 25,000 ล้านดอลลาร์ (8.92 แสนล้านบาท) โดยตลาดส่งออกหลักของไทยคือ UAE ตามด้วยซาอุฯ โอมาน และคูเวต ตามลำดับ ในขณะที่ไทยมีการนำเข้าจาก UAE ซาอุฯ และกาตาร์ เป็นหลัก
“ในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกไป UAE เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่ม GCC มูลค่าประมาณ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ ซาอุฯ 2,000 ล้านเหรียญ และโอมาน 468 ล้านเหรียญ ขณะที่ไทยนำเข้าจาก UAE อันดับ 1 มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านเหรียญ ซาอุฯ 7,000 ล้านเหรียญ และกาตาร์ ประมาณ 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐ”
รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวอีกว่า จากสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ส่อเค้ายืดเยื้อและขยายวง คาดจะทำให้การส่งออกของไทยไปกลุ่ม GCC จะชะลอตัวลง ( 9 เดือนแรก ไทยส่งออกไปกลุ่ม GCC มูลค่า 5,222 ล้านดอลลาร์สหรัฐ +2.6%) นักท่องเที่ยวคาดจะลดลง 30-40 % เหลือ 3-4 แสนคน รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงไปเหลือ 3 หมื่นล้านบาท จากเดิม 5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจากประเทศ GCC เข้ามาไทย มาจากคูเวต ซาอุฯ UAE รวม 266,817 คน คิดเป็น 50% ของนักท่องเที่ยวตะวันออกลางเข้ามาในไทย ทำรายได้มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวจาก UAE เข้ามาเที่ยวในไทยมากที่สุด อย่างไรก็ตามหลังปี 2562 นักท่องเที่ยวจาก GCC ลดลงอย่างต่อเนื่องจากโควิด ต่อมาในปี 2566 นักท่องเที่ยวจากซาอุฯ แซงหน้านักท่องเที่ยวจาก UAE
ขณะที่ด้านการลงทุนโดยตรง(FDI) ของ GCC ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2565 พบว่า UAE เป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยมากสุด มูลค่า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วย คูเวต 2 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ไทยมีศักยภาพด้านภาคบริการ มากกว่าอุตสาหกรรมสำหรับกลุ่ม GCC โดยภาคบริการที่มีศักยภาพ คือ โรงแรม ภัตคาคาร ร้านอาหาร นวดแผนไทย โรงพยาบาล สถานเสริมความงาม ส่วนอุตสาหกรรมคือ อุตสาหกรรมน้ำหอม เครื่องสำอาง และอาหารสุขภาพ
ด้านเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ของไทย ระบุว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลไทยเร่งผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับต่างประเทศให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทย โดยเร่งผลักดันการเจรจา FTA ที่ดำเนินการอยู่แล้วให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาทั้ง ไทย-อียู,ไทย-ศรีลังกา และเปิดเจรจา FTA ใหม่ ๆ เช่น กลุ่ม GCC แอฟริกาใต้ ละตินอเมริกา เป็นต้น