เบื้องหลังพาณิชย์ ยึดอำนาจอุตฯ คุมน้ำตาลทรายเบ็ดเสร็จ

01 พ.ย. 2566 | 09:54 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2566 | 04:07 น.

เปิดเบื้องหลัง "กระทรวงพาณิชย์" ยึดอำนาจ "กระทรวงอุตสาหกรรม" งัดกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 คุมน้ำตาลทรายเบ็ดเสร็จ

ความพยายามปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศครั้งนี้ เป็นข้อเสนอจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)  ที่เห็นว่า ปัจจุบันต้นทุนการผลิตน้ำตาลทรายที่สูงขึ้นมาก จากราคาอ้อยที่สูงขึ้น เพราะผลกระทบจากภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตลดลง ซึ่งคาดว่าการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 66/67 ผลผลิตอ้อยอาจเหลือเพียง 75-80 ล้านตัน หรือลดลงประมาณ  10% จากปี 65/66 รวมถึงมีความต้องการทำให้ราคาน้ำตาลของไทยเท่ากับราคาตลาดโลก ที่ กก.ละ 27 บาท

 

สอน.จึงเสนอเรื่องให้คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ โดยปรับราคาน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัม(กก.)ละ 19 บาท เป็นราคากก.ละ 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิมกก.ละ 20 เป็นกก.ละ 24 บาท โดยคาดว่าการปรับขึ้นราคาครั้งนี้จะได้เงินเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท

ขณะที่ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ ได้แสดงความเห็นคัดค้านในที่ประชุมโดยให้เหตุผลว่า การปรับเพิ่มราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้น กระทบกับผู้บริโภคเป็นวงกว้าง อีกทั้งการที่ผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ก็ถือว่าไม่เป็นธรรมที่จะต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล โรงงานน้ำตาล และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องแก้ปัญหา

 

แต่นายฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) และรักษาราชการแทนเลขาธิการกอน. ไม่เห็นด้วย และผลักดันให้ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องดังกล่าว ก่อนออกประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 โดยให้มีผลบังคับใช้วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566
 

หลังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทราบว่า จะมีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราบหน้าโรงงานก็ได้สั่งให้กระทรวงพาณิชย์หาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ พร้อมแจ้งให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีรับทราบ 

 

จากนั้นก็เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 จนได้ข้อสรุปว่าจะมีการประกาศให้สินค้าน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน

 

นอกจากนี้นายภูมิธรรมยังได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยแจ้งว่าการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายนั้นกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง ควรที่จะมีการดำเนินการอย่างรอบคอบ 

 

นายภูมิธรรมกล่าวกับ นางสาวพิมพ์ภัทรา ว่า เรื่องนี้ควรมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนดำเนินการ และที่สำคัญควรแจ้งให้นายกรัฐมนตรีรู้ก่อน เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง 

 

นายภูมิธรรมแจ้งว่า จากการหารือกับนายกฯ หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ให้กระทรวงอุตสาหกรรม ทำเรื่องเสนอของบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยในการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น กก.ละ 2 บาท ให้ที่ประชุมครม.พิจารณา ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่จะนำงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนมาช่วยเหลือเกษตรกรช่าวไร่อ้อย 

 

ส่วนการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กก.ละ 2 บาท เข้ากองทุนเพื่อลด PM 2.5 นั้นให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาแหล่งเงินอื่นมาใช้ 

 

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระทรวงอุตฯก็ทำผิดขั้นตอน ปกติเวลาจะขึ้นราคาน้ำตาล 3 กระทรวงก่อน คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องหารือกันในคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.) ก่อน ไม่ใช่เสนอให้กอน. ชุดใหญ่พิจารณาเลย 

 

การที่กระทรวงอุตฯไปขึ้นราคาน้ำตาลหน้าโรงงาน เพราะต้องการนำเงินไปโปะให้ชาวไร่อ้อย โดยคิดว่าน้ำตาลทรายลอยตัวตามระบบใหม่ที่เลิก 70/30ไปแล้ว  ทางกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นคนคุมราคาสินค้า เห็นว่าน้ำตาลมีส่วนผสมในราคาสินค้าอาหารเกือบทุกชนิด ทั้งอาหารสุก อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ ทำให้สินค้าเหล่านี้ก็จะต้องขึ้นราคา มีปัญหาต่อการควบคุมเงินเฟ้อ เลยเบรกการขึ้นราคาน้ำตาลทรายไว้ก่อน โดยเสนอครม.ให้อำนาจใช้กฎหมายควบคุมราคาสินค้ามายึดอำนาจกฎหมายอ้อยและน้ำตาลทรายที่กระทรวงอุตฯเป็นคนดูแล

 

แต่ปัญหาจะตามมาคือ มีการลักลอบส่งออกน้ำตาลทรายไปต่างประเทศ มีการกักตุนและเก็งกำไร ชาวไร่อ้อยขาดเงินเพิ่ม เกิดม็อบตามมา