กรมปศุสัตว์ รายงานสถานการณ์การผลิตและการตลาดไข่ไก่ ปี 2566 มีแผนการนำเข้าเพื่อการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) จำนวน 3,870 ตัว นำเข้ามาเลี้ยงแล้ว 100% ส่วนแผนการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) นำเข้ามาเลี้ยงแล้ว 337,496 ตัว คิดเป็น 76.65% (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค.66) ปัจจุบันจำนวนไข่ไก่ยืนกรง 52.3 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.4 ล้านฟองต่อวัน ทั้งนี้ในการรับมือไข่ไก่ “ล้นตลาด รับปิดเทอม และกินเจ” ที่ผ่านมา ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ มีผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ
แหล่งข่าวจากกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการส่งออกไข่ไก่สดช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ว่า มีการส่งออกจำนวน 310.63 ล้านฟอง มูลค่า 1,384.13 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 100.01% และ 135.62% ตามลำดับ มีการส่งออกมากสุดไปสิงคโปร์สัดส่วน 70% ฮ่องกง 16% และไต้หวัน 8%
โดยปีนี้การส่งออกมีโอกาสทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางกับมาตรการปลดไก่ไข่ยืนกรงเพื่อแก้ปัญหาไข่ล้นตลาดในช่วงปิดเทอม และกินเจที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากเกษตรกรเกรงไม่ได้โควตาพันธุ์สัตว์จาก 16 ผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ทำให้ไม่มีแม่ไก่เลี้ยงต่อเนื่อง ขณะปัจจุบันผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์จะมีลูกค้าขาประจำแล้ว และบางส่วนบริษัทขยายฟาร์มเลี้ยงเองจึงทำให้เกษตรกรเดือดร้อนจากการถูกลดโควตา และลดปริมาณพันธุ์สัตว์อย่างไม่เป็นธรรม
สำหรับต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในไตรมาส 2/2566 ในทุกขนาดฟาร์มเฉลี่ยฟองละ 3.72 บาท คาดการณ์ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาส 3 /2566 เฉลี่ยฟองละ 3.67 บาท (กราฟิก ประกอบ) เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนไตรมาส 3/2565 เฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 3.40 บาท พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 7.94% เนื่องจากค่านํ้าและค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น 15.23% ค่าพันธุ์สัตว์ ปรับขึ้น 9.16% ค่าอาหารสัตว์ ปรับขึ้น 3.75% ค่าวัคซีนและยาป้องกันโรคปรับขึ้น 1%
แหล่งข่าวกรมปศุสัตว์ กล่าวถึง แผนในปี 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดสรรโควตานำเข้าให้แก่ผู้ประกอบการ 16 บริษัท โดยใช้โควตาเดิมเท่ากับปี 2566 แบ่งเป็น ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์ (GP) จำนวน 3,800 ตัว และไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 440,000 ตัว โดยกำหนด ปู่ย่าพันธุ์ (GP) 1 ตัว ผลิตลูกพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ได้ 77 ตัว ปลดที่อายุ 72สัปดาห์ และแม่ไก่ไข่ยืนกรง 1 ตัว ผลิตไข่ไก่ได้ 361 ฟอง ปลดที่อายุ 80 สัปดาห์
ส่วนผลการดำเนินงานมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ในช่วงที่ผ่านมา ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด และส่งออก เพื่อลดปริมาณไข่ไก่ในท้องตลาดรวม 78 ล้านฟอง ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 มีการเก็บรวมรวมการส่งออก เป้าหมายเดือนตุลาคม 39 ล้านฟอง (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค. 66) มีการเก็บรวบรวมไข่ไก่เพื่อการส่งออกกว่า 29.1 ล้านฟอง ปลดไข่ไก่ยืนกรงก่อนกำหนด จำนวน 322,988 ตัว (เทียบเท่าส่งออกไข่ไก่ 5.75 ล้านฟอง) รวมดำเนินการแล้ว กว่า 34.9 ล้านฟอง คิดเป็น 89.56% จากเป้าหมาย
แหล่งข่าวจากผู้ค้าไข่ไก่ เผยว่า สาเหตุที่ไข่ไก่ราคาปรับตัวลงมามากช่วงนี้ ส่วนหนึ่งจากมีบางบริษัทเล่นกลนำไข่ไก่ส่งออก แล้วแปลงสัญชาติเป็นไข่ไก่เมียนมาเข้ามาขายถึงตลาดไทในราคาไข่ไก่คละที่ 2.50 บาท/ฟอง ขณะที่ราคาล้งไข่ไก่รับซื้อจากฟาร์ม 4 บาทต่อฟอง จึงทำให้ตลาดไข่ไก่ระสํ่าลูกค้าแตกแถวไปหาซื้อแต่ของราคาถูก เป็นวัฏจักรการค้าทำให้ไข่ล้นตลาด และขายยาก ต่างจากช่วงไข่ขาดตลาด จะไม่เกี่ยงราคาลูกค้าจะมาแย่งซื้อจากฟาร์ม