เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการประชุมหารือกำหนดแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ครั้งที่ 4/2566 มีนายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธาน มีผู้เลี้ยงไก่ไข่จาก 4 สมาคม 4 สหกรณ์ และผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ 16 บริษัทเข้าร่วม เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตไข่ไก่ในประเทศและพิจารณากำหนดมาตรการให้เหมาะสม
แหล่งข่าวจากผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมได้มีการกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ โดยมีการหารือในประเด็นสถานการณ์และแนวโน้มราคาไข่ไก่ระหว่างเดือนกันยายน- ตุลาคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ในช่วงกินเจ ฝนตกชุก และปิดภาคเรียน ซึ่งมักเกิดปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดทุกปี มาตรการมีเป้าหมายในการพยุงราคาไข่ไก่ให้เหมาะสมกับสภาวะต้นทุนที่สูงต่อเนื่อง มิใช่เพื่อการขึ้นราคาให้สูงกว่าภาวะปัจจุบัน
ปัจจุบันการผลิตไก่ไข่ 1.มีจำนวนแม่ไก่ไข่ยืนกรง 52.91 ล้านตัว ผลผลิตไข่ไก่ 43.92 ล้านฟองต่อวัน (30 ก.ค. 66) จากเดิมมีแม่ไก่ไข่ 51-52 ล้านตัวประมาณ ให้ผลผลิต 42 ล้านฟอง 2.ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 4.00 บาท (ข้อมูล ประกาศเครือข่ายสหกรณ์ฯ) ลูกไก่ไข่ตัวละ 28 บาท ไก่ไข่รุ่นตัวละ 175 บาท (ข้อมูล CPF) คาดการณ์ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไตรมาส 3/2566 ฟองละ 3.67 บาท (คณะอนุกรรมการต้นทุนฯ) มีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ราคานํ้ามันเชื้อเพลิง และพันธุ์สัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกราย เร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 80 สัปดาห์ ยกเว้นรายย่อย ที่เลี้ยงตํ่ากว่า 30,000 ตัว ที่มิใช่ฟาร์มในระบบเกษตรพันธะสัญญาของผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมทั้งขอความร่วมมือผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ที่เลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป เร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงไม่ให้อายุเกิน 78 สัปดาห์จนถึงเดือนธันวาคม 2566 ตลอดจนผู้ประกอบไก่ไข่พันธุ์ (PS) ร่วมกันส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนด (อายุ 72 สัปดาห์ขึ้นไป) เพื่อลดปริมาณไข่ไก่ในท้องตลาด รวมจำนวน 78 ล้านฟอง (เฉลี่ย 2 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อวัน) ระหว่างเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566
ในวันเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่ ได้มีมติดำเนินมาตรการคู่ขนานร่วมกับทางกรมปศุสัตว์ ในโครงการรับซื้อไข่ไก่เข้าโรงงานแปรรูปเพื่อการส่งออกครั้งที่ 2 จากครั้งแรก เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 7 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาได้เสร็จสิ้น และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมไก่ไข่ ทำให้ราคาประกาศไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขึ้นไปที่ฟองละ 4 บาทตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม เป็นต้นมา จึงมีมติเห็นชอบดำเนินการรอบ 2 ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน -31 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้มีเงื่อนไขให้กองทุนฯ รับซื้อไข่ไก่คละจากเกษตรกร นํ้าหนัก 20.5 กิโลกรัม(กก.) ราคาฟองละ 3.90 บาท โดยกองทุนฯจะจ่ายเงินให้เกษตรกรภายใน 21 วัน นับจากวันที่ทำหนังสือขออนุมัติจ่ายเงินให้ฟาร์ม และกองทุนฯจะส่งไข่ที่รับซื้อจากเกษตรกรเข้าโรงงานแปรรูปของซีพีเอฟ ในราคาตํ่ากว่าที่ซื้อจากเกษตรกรไม่เกินฟองละ 40 สตางค์ โดยซีพีเอฟ รับซื้อไข่ไก่ได้วันละ 2-3 แสนฟอง เพื่อผลิตไข่แปรรูปส่งออก และในส่วนโรงงานแปรรูปอื่น ๆ เช่น บริษัท เอส.ดับบลิว.ฟู้ดเทค จำกัดหากสามารถทำตามเงื่อนไขนี้ได้ กองทุนฯ ก็ยินดีส่งให้เช่นกัน
สำหรับมาตรการตรวจสอบไข่แปรรูปส่งออกจริงหรือไม่ ให้เช็คจากปริมาณการส่งออกไข่ไก่แปรรูปก่อนและหลังทำกิจกรรม โดยหลังทำกิจกรรมตัวเลขการส่งออกต้องมากกว่าช่วงก่อนหน้าที่ไม่ทำกิจกรรม โดยไข่ไก่แปรรูป 1 กก.มาจากไข่ไก่สด 20 ฟอง ภายใต้วงเงิน 20 ล้านบาท คาดจะซื้อไข่ได้ประมาณ 5 ล้านฟอง จนกว่าจะมีเงินจากโรงงานกลับเข้ามาในบัญชีจึงจะทยอยซื้อรอบใหม่ได้
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะดำเนินโครงการส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ในวันเรียน นำร่องโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือสพฐ. 5 โรง ได้บริโภคไข่ไก่ที่โรงเรียนอย่างน้อย 3 ฟอง/คน/สัปดาห์ ตลอด 3 ภาคการศึกษา ปี 2566-2567 ซึ่งภาคแรกจะขอกองทุนฯให้การสนับสนุนฟรี ส่วนอีก 2 ภาคการศึกษาจะขอรับการสนับสนุนจากกองทุนฯ ฟองละ 1 บาท เพื่อซื้อไข่ไก่ให้ 5 โรงเรียน นำร่องต่อเนื่องโดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จนสิ้นปี 2567 คาดงบประมาณที่จะใช้ทั้งสิ้น 771,000 บาท
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,921 วันที่ 10-13 กันยายน พ.ศ. 2566