สรุปมตินบข.ล่าสุด "จ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา" ไร่ละ 1,000 บาท ชงครม.14 พ.ย.66

11 พ.ย. 2566 | 02:32 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ย. 2566 | 02:43 น.

เช็คเงินช่วยเหลือชาวนาปี 2566-2567 ล่าสุด จะจ่ายวันไหน หลังมตินบข.ล่าสุดวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา "ภูมิธรรม" เผย เคาะจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ปีนี้เป็นปีสุดท้าย จะเสนอเข้าครม.อังคารที่ 14 พ.ย.นี้ หากเคาะผ่านจ่ายได้ทันที

เช็คเงินช่วยเหลือชาวนา ปี 2566-2567 ล่าสุด หลังจากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 มีความคืบหน้า

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมนบข.ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่จะช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือน วงเงิน 56,321.07 ล้านบาท 

"โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาวันที่ 14 พ.ย.66 หลังครม.อนุมัติ จะดำเนินการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้ทันที"

เสนอกระทรวงเกษตรออกมาตรการพัฒนาคุณภาพการผลิต

รองนายกฯภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพพิจารณาหามาตรการที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ทั้งการจัดหาเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ การบริหารจัดการใหม่ๆ เพื่อให้คุณภาพข้าวดีขึ้น จะได้ไม่ต้องดูแลแบบนี้ทุกปี 

และถ้าเป็นไปตามเป้าหมาย ก็จะไม่มีโครงการแบบนี้อีก เพราะจะเกิดกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่ที่จะช่วยเกษตรกรให้เพาะปลูกข้าวที่มีคุณภาพ ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น คุณภาพดีขึ้นและต้นทุนต่ำลง

ปีนี้น่าจะเป็นปีสุดท้ายที่จะได้เห็นการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่ใช่เพราะเป็นภาระของรัฐบาล แต่กระทรวงเกษตรฯจะหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพื่อให้สามารถผลิตข้าวได้คุณภาพดีขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลงแต่หากการดำเนินการยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ได้”

 

สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปี 66/67

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้ปรับปรุงมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีปี 66/67 เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท โดยทบทวนให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาทให้กับสหกรณ์ที่มียุ้งฉางเหมือนเดิม แต่เพิ่มให้กับเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตัวเอง จะได้ตันละ 1,500 บาทด้วย

ส่วนเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มียุ้งฉาง ถ้าเก็บที่สหกรณ์ สหกรณ์จะได้ตันละ 1,000 บาท เกษตรกรได้ตันละ 500 บาทและสามารถนำข้าวที่ฝากเก็บมาขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ คือ

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 12,000 บาท
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 ล้านบาท
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 10,000 บาท
  • ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 10,000 บาท

 

"หากข้าวราคาขึ้นเกษตรกรสามารถไปไถ่ถอนออกมา เพื่อนำมาจำหน่ายได้" นายภูมิธรรม กล่าว

 

สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม

นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาทนั้น ได้ทบทวนอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลจะชดเชยให้ โดยสหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% เท่าเดิม และรัฐช่วยดอกเบี้ย3.50-3.85% เพราะ ธ.ก.ส. คิดดอกเบี้ยอยู่ที่ 4.50-4.85% ระยะเวลา 15 เดือน

 

มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการ

รมว.พาณิชย์ ยังกล่าวถึง มาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการเก็บสต๊อกข้าวว่า ได้กำหนดให้มีการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีเพียงอย่างเดียว จากที่ก่อนหน้านี้ มีการเสนอชดเชยให้กับผู้ส่งออก และผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงด้วย โดยรัฐจะช่วยชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสี ที่เหลือโรงสีรับผิดชอบ และให้ธนาคารกรุงไทยเข้ามาช่วยปล่อยกู้ ซึ่งจะมีการนำเสนอกรอบวงเงินชดเชย อัตราดอกเบี้ยที่ชดเชยให้ นบข. และ ครม. พิจารณาต่อไป