พลันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอตามที่คณะกรรมการบริหารและจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) เสนอมาตรการให้เงินช่วยเหลือชาวนา (ค่าเก็บเกี่ยวข้าว)ไร่ละ 1,000 บาท หรือ "เงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท" ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 5.6 หมื่นล้านบาท นั้น
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในฐานะนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยขอขอบคุณรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง ที่ช่วยเหลือชาวนาและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร โดยออกมาตรการพักชำระหนี้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 3 ปี (สำหรับเกษตรกรรายย่อย ภาระต้นเงินรวมทุกสัญญาไม่เกิน 300,000 บาท) เพราะการพักหนี้ พักดอกเบี้ยนี้จะช่วยชาวนาลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเงินและสภาพคล่องได้มาก ทำให้ชาวนามีรายได้เหลือมากขึ้น ลดการไปก่อหนี้นอกระบบเพิ่ม และพอมีทุนหมุนเวียนในรอบต่อไป
อีกทั้งต้องขอขอบคุณที่รัฐบาลอนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนา "โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตผู้ปลูกข้าว" จำนวนเงินไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท เพราะโครงการนี้มีความสำคัญต่อชาวนาเป็นอย่างมาก ช่วยให้เกษตรกรชาวนาได้นำเงินส่วนนี้ไปเป็นทุนสำหรับฤดูการผลิตรอบถัดไป หรือนำไปต่อยอดพัฒนาปรับปรุงแปลงนาของตนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีกทั้งโครงชะลอการขายข้าวเปลือก โดยเฉพาะชาวนาที่ปลูกข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว เพราะชาวนามียุ้งฉางของต้นเองจะได้รับประโยชน์โดยตรง ทั้งค่าเก็บฝากตันละ1,500 บาท และหากราคาอยู่ในระดับพอใจ ก็สามารถไถ่ถอนออกมาขายได้ หรือหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ค่อย ๆ นำออกมาขาย ที่สำคัญเป็นการสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวนาที่ยังมียุ้งฉางของตนเองอยู่ ถือเป็นการดำเนินการโดยชาวนาเองที่เป็นเจ้าของข้าวเอง
อย่างไรก็ดี อยากจะฝากเน้นย้ำกับพี่น้องเกษตรกรว่า แม้จะมีการพักหนี้ แต่เราก็ยังจำเป็นต้องควบคุมเรื่องวินัยการเงินอย่างมาก เพราะยอดหนี้ทั้งหมดก็ยังคงอยู่ เมื่อครบ 3 ปี ก็ยังจะต้องชำระคืนต่อเช่นเดิม ส่วนเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ก็ควรที่จะนำไปใช้ให้ตรงวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุด คือนำไปพัฒนาปรับปรุงแปลงนาให้มีประสิทธิภาพจริง โดยคำนึงถึงเสมอว่าเงินส่วนนี้เป็นเงินทุนที่จะต้องนำไปลงทุนต่อยอด โดยไม่นำไปใช้จับจ่ายในสิ่งที่ไม่ก่อเกิดประโยชน์หรือสูญเปล่า
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า สมาคมชาวนาฯ ยังอยากเห็นเรื่องของ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนมาก เช่น เรื่องแหล่งน้ำ ทั้งน้ำบนดินและใต้ดิน การพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณะ และคลองส่งน้ำ คลองซอยต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของการทำการเกษตร รวมถึงเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวทั้งพื้นนุ่ม พื้นแข็ง ทั้งพันธุ์ที่มีกลิ่นหอม และพันธุ์ที่ไม่มีกลิ่นหอม จะต้องเพิ่มให้มีผลผลิตสูงอย่างน้อยข้าวเกี่ยวสดต้องให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 1,200-1,300 กิโลกรัม (กก.)ต่อไร่ หรือข้าวแห้งต้องไม่ต่ำกว่า 1,000 กก.ต่อไร่ เนื่องจากการลดต้นทุนเองก็มีขีดจำกัด
“กล่าวคือลดได้ต่ำสุดถึงเพียงแค่จุด ๆ หนึ่ง และแม้ชาวนาจะลดต้นทุนได้แล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากสภาพดินฟ้าอากาศ โรคพืชโรคแมลง หรือ แม้แต่ปัจจัยต่าง ๆ นอกเหนือการควบคุม จนเกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มผลผลิตเข้ามาร่วมกับลดต้นทุนควบคู่ไปด้วยกันจึงจะได้ผลลัพธ์ตามที่คาด” นายกสมาคมชาวนาฯ กล่าวย้ำในตอนท้าย
อนึ่ง มติครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวในช่วงต้นฤดูข้าวนาปี 66/67 2 มาตรการ โดยมีเป้าหมายการนำข้าวออกจากระบบ 4 ล้านตัน จากปริมาณข้าวที่ออกมาสู่ตลาด 10 ล้านตัน
1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มีเป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 10,120.71 ล้านบาท ช่วยค่าฝาก 1,500 บาทต่อตันโดยให้สหกรณ์รับ 1,000 บาท/ตัน และเกษตรกรรับ 500 บาท/ตัน โดยให้เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1-5 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2566 ถึง 29 ก.พ. 2567 ในราคาข้าวหอมมะลิตันละ 12,000 บาท ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวหอมมะลิปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเจ้า ตันละ 9,000 บาท ข้าวเหนียวตันละ 10,000 บาท หากราคาข้าวขึ้น รวมถึงเกษตรกรรายย่อยที่มียุ้งฉางด้วย
2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม มีเป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 481.25 ล้านบาท สหกรณ์จ่ายดอกเบี้ย 1% รัฐช่วยดอกเบี้ย 3.85% ระยะเวลา 15 เดือน เริ่ม 1 ต.ค. 2566 ถึง 30 ก.ย. 2567