วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2566) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณา 4 มาตรการ รักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ปีการผลิต 2566/2567 วงเงิน 69,043.03 ล้านบาท หนึ่งในมาตรการจะมีการให้เงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ด้วย
รายงานข่าวจากที่ประชุม แจ้งว่าสำหรับเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท อยู่ภายใต้โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 56,321 ล้านบาท มีเกษตรกรเป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ มีช่วงเวลาการจ่าย 1 พ.ย.66 – 30 ก.ย.2567
ทั้งนี้การจ่ายเงินนั้น ตามแผนจะเริ่มดำเนินการหลังจากที่ประชุมครม. และคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีมติเห็นชอบ และให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการฯ ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2567 ต่อไป โดยคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
ส่วนการจ่ายเงินกรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรผู้ปลูกข้าว ปี 2566/67 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ เพื่อเริ่มจ่ายเงินให้เกษตรกร โดยธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ บริหารจัดการข้อมูลและโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ของดครงการ ทั้งนี้ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ประมวลผล และรายงานการโอนเงินช่วยเหลือให้กรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ต่อไป
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในการที่ประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังไม่ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องการลดต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนา และมอบหมายให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนจากสมาคมชาวนาไทย เพื่อดูว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้เท่าไหร่หากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ก็ให้มีการเสนอกลับมาที่ประชุม นบข.ต่อไป
ส่วนมาตรการที่เหลือ 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1. โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67วงเงิน 10,120 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนระหว่างชะลอการขายข้าวในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากและได้ราคาต่ำกว่าตลาด โดยไม่คิดดอกเบี้ยกับเกษตรกร เป้าหมาย 3 ล้านตัน โดยช่วยเหลือ 1,500 บาทต่อตัน ในกรณีเข้าร่วมกับสหกรณ์ สหกรณ์รับ 1,000 บาทต่อตัน เกษตรกรรับ 500 บาทต่อตัน เก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง 1 - 5 เดือน และให้นำออกขายเมื่อข้าวราคาดี
2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 2,120 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการดูดซับผลผลิตไว้เป็นระยะเวลา 2 - 6 เดือน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐที่ผู้ประกอบการค้าข้าวเป็นลูกค้าอยู่ เป้าหมาย 10 ล้านตัน ช่วยดอกเบี้ย 4% เก็บสต๊อก 2 - 6 เดือน
3. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 วงเงิน 481 ล้านบาท สำหรับสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชนที่ประกอบธุรกิจรวบรวมข้าวจากเกษตรกรสมาชิก เกษตรกรทั่วไป เป้าหมาย 1 ล้านตัน โดยช่วยดอกเบี้ย 15 เดือน ในอัตรา 3.85% สหกรณ์เสียดอกเบี้ย 1%
แหล่งข่าว ระบุว่า ที่ประชุม นบข.ในวันนี้ยังไม่อนุมัติวงเงิน 6.9 หมื่นล้านบาท แม้ว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยกับแนวทางการชะลอการขายข้าวของเกษตรกร ในช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยทั้ง 4 มาตรการที่ประชุมมีมติให้ไปปรับปรุงมาตรการ และนำมาเสนอให้ที่ประชุม นบข.ใหม่อีกครั้งที่จะมีการประชุมในเดือนถัดไป
นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 1 พ.ย. 66 ที่สำคัญว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย โดยในส่วนของสถานการณ์ข้าวไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (ณ เดือน ต.ค.66) คาดการณ์ผลผลิตข้าว ปีการผลิต 2566/67
โดยผลผลิตมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้บางพื้นที่สามารถปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว และผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง
การส่งออกข้าวไทย : การส่งออกข้าวไทยเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญ
ปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) อินเดียส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับ 1 ของโลก ประมาณ 14.87 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ เวียดนาม 6.26 ล้านตัน ไทย 6.08 ล้านตัน ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน และสหรัฐฯ 1.49 ล้านตัน
โดยอินเดีย ส่งออกข้าวลดลง (-3%) เนื่องจากมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว เพื่อควบคุมราคาข้าวภายในประเทศ เวียดนาม ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น (+33%) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก ไทย ส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น (+12%) เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากอินเดียห้ามส่งออกข้าวขาว และปากีสถาน ส่งออกข้าวลดลง (-37%) เนื่องจากมีปริมาณข้าวจำกัด จากเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงเมื่อปีก่อน
การส่งออกข้าวไทย : ตลาดส่งออกข้าวสำคัญของไทย ปี 2565 – 2566 (ม.ค.-ก.ย.) สัดส่วนส่งออก ปี 66 (รวม 100%) ไทยส่งออกข้าวขาวมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด ประเทศที่นำเข้าข้าวขาวที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อิรัก มาเลเซีย ญี่ปุ่น โมซัมบิก รองลงมาได้แก่ข้าวนึ่ง 19% ประเทศที่นำเข้าข้าวนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ แอฟริกาใต้ บังกลาเทศ เยเมน เบนิน แคเมอรูน ข้าวหอมมะลิไทย 18% ประเทศที่นำเข้าข้าวหอมมะลิไทยที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เซเนกัล ฮ่องกง แคนาดา จีน ข้าวหอมไทย 6% ข้าวเหนียว 3% และข้าวกล้อง 1%
ราคาข้าวไทย เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 24%
แนวโน้มสถานการณ์ข้าวไทย ราคาข้าวไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยบวก
1. การบริโภคข้าวในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังฟื้นตัว ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
2. การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มเป็นไปตามเป้าหมาย 8 ล้านตัน จาก 2.1 อินเดียมีมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ ส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น 2.2 ค่าเงินบาทอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก 2.3 ตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
ขณะที่ปัจจัยลบ 1. ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาด 2. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่อาจจะมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 – 2567 ตามเป้าหมายหลักที่สำคัญ
1. ลดต้นทุนการผลิต/ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่
2. สนองความต้องการที่หลากหลายของตลาดข้าว มีความคืบหน้า
3. เพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ ความคืบหน้า กรมการข้าว ได้รับรองแล้ว 13 พันธุ์ ได้แก่ 1.ข้าวเจ้าพื้นนุ่ม 3 พันธุ์ 2. ข้าวเจ้าพื้นแข็ง 7 พันธุ์ 3. ข้าวหอมไทย 1 พันธุ์ 4. ข้าวโภชนาการสูง 1 พันธุ์ 5.ข้าวเหนียว 1 พันธุ์
นอกจากนี้ ที่ประชุม นบข. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ นบข. ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแนวทาง แผนงาน โครงการและมาตรการในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการผลิตข้าวและชาวนาที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้ เกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบการผลิตข้าวโดยรวมของประเทศ รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงานโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
2. คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่เสนอแผนงาน โครงการ มาตรการ และแนวทางในการดำเนินการเกี่ยวกับการตลาดข้าวที่เหมาะสมต่อ นบข. เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดผลดี ต่อระบบการค้าข้าวโดยรวม เสนอแนวทางในการส่งเสริมการศึกษาวิจัยการตลาดข้าวที่เหมาะสม ต่อ นบข. อนุมัติแผนงาน โครงการ และมาตรการเกี่ยวกับการตลาด รวมทั้งประสาน ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนงาน โครงการ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
3. คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่ ติดตาม กำกับดูแล แก้ไขปัญหา และบริหารจัดการข้าวทั้งด้านการผลิตและการตลาดข้าวในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อยพิจารณาคัดเลือกและอนุมัติผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะขอรับการสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
“สำหรับเรื่องการปรับเปลี่ยนชื่อข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ เป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ที่ประชุมมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนผู้ประกอบการค้าข้าว และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหารือเพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสม เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อ ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด และภาคเหนือ 3 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา) เป็น “ข้าวหอมมะลิ” และนำเสนอ นบข. เพื่อพิจารณาต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
วันที่ 3 พ.ย. 66 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านการแจกเงิน 1,000 บาทต่อไร่ ที่มีการคลาดเคลื่อนหลังจากประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ว่ารัฐบาลปฏิเสธดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา โดยยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธการช่วยเหลือ แต่จะใช้เครื่องมือตัวใหม่ในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวให้ อาทิ กลไกของสหกรณ์ ซึ่งถือว่ามีการทำงานที่ใกล้ชิดกับเกษตรกรในพื้นที่มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีสหกรณ์ที่มีศักยภาพสามารถเข้ามามีส่วนในการช่วยเกษตรกรชาวนาได้ 500-600 แห่งทั่วประเทศ ส่วนการดูดซับผลผลิตของเกษตรกร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนอยู่แล้ว รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันสามารถทำได้ทันทีหากเกิดกรณีที่ราคาข้าวของเกษตรกรมีราคาลดลง
“ราคาข้าวในปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นที่น่าพอใจอยู่ ทำให้มาตรการอุดหนุนต่างๆ อาจยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบออกมามากนัก โดยคณะกรรมการ นบข. จะมีการประชุมเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อให้มีโอกาสรายงานสถานการณ์และออกมาตรการที่มีความจำเป็นได้ทันท่วงที หากเกิดกรณีที่ราคาข้าวตกต่ำหรือมีประเด็นที่ต้องให้ความช่วยเหลือและพิจารณาแบบเร่งด่วนเกิดขึ้น” นายภูมิธรรม กล่าว