นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับนายอัน ด๊อก-กึน รัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ ทั้งสองฝ่ายเห็นถึงประโยชน์ของการจัดทำ FTA ระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นการต่อยอดการเปิดเสรีเพิ่มเติมจาก FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ที่มีอยู่แล้ว และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)
โดยเฉพาะการเปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังไม่ได้ลดเลิกภาษีศุลกากร ซึ่งจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากเกาหลีใต้ในไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้เกาหลีใต้มองว่าไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าสำคัญ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งออกไปยังประเทศเป้าหมายอื่นๆ
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งรัดกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-เกาหลีใต้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพช่วงต้นปี 2567
นอกจากนี้ ได้ชวนเกาหลีใต้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ (soft power) ให้แก่ไทย เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นแบบอย่างของการดำเนินนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ที่ประสบความสำเร็จ
รวมทั้งเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสีเขียว ในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยเฉพาะยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ และจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ ไทยยังได้ผลักดันให้ศุลกากรของเกาหลีใต้ เร่งออกประกาศเพื่อปรับภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าน้ำมะพร้าวแท้ 100% ในอัตรา 0% ภายใต้ FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งจากเดิมที่ปรับขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้า อยู่ที่ 40% มาตั้งแต่ปี 2562 เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลก ซึ่งคาดว่าศุลกากรของเกาหลีใต้จะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (มกราคม - กรกฎาคม 2566) การค้าไทยและเกาหลีใต้มีมูลค่า 8,999.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปเกาหลีใต้ มูลค่า 3,725.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 5,274.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ส่วนสินค้านำเข้าจากเกาหลีใต้ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์
โดยสินค้าที่ปัจจุบันเกาหลีใต้ยังไม่ได้ลดเลิกภาษีศุลกากรให้ไทย เช่น เนื้อไก่แช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารสัตว์ ผลไม้สดเมืองร้อน (มะม่วง ฝรั่ง และมังคุด) กากมันสำปะหลัง ซอสและของปรุงรส น้ำยางธรรมชาติ ยางล้อ และถุงมือยาง เป็นต้น