วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ครั้งที่ 7/2566 โดยมีร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาวาระที่ 4 เรื่องเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในเรื่องขอตัดดินและนำดินออกจากเขตปฏิรูปที่ดิน โดยให้จ่ายค่าชดเชยในอัตรา 41.26 บาทต่อลูกบาศก์เมตร รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 41.9 ล้านบาท 2.บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด มาขออนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อดำเนินกิจการพลังงานที่จังหวัดกำแพงเพชรและสุโขทัย รวมพื้นที่ 869 ไร่
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย และในฐานะกรรมการ คปก. เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีที่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จะมาขอตัดที่ดินออกไปจากเขตปฎิรูปที่ดิน อ้างเรื่องความปลอดภัย เป็นอันตราย โดยปรับลดความสูงของเนินดินบริเวณทางวิ่ง 05 ทางด้านทิศใต้ของสนามบิน
โดยตัดดินในพื้นที่ส่วนที่สูงชันออกมีปริมาตรดินประมาณ 1,322,516.50 ล้านลูกบาศก์เมตร และบริษัทจะนำออกไปทิ้งที่จุดทิ้งดินในเขตพื้นที่โฉนด/น.ส.3 ก.ของบริษัทฯ จำนวน 23 แปลง รวมเนื้อที่ 304-2-00 ไร่ โดยบริษัทยินดีจ่ายค่าชดเชยตามที่ราชการเคยเรียกเก็บในราคาลูกบาศก์เมตรละ 41.26 บาท โดยอ้างเป็นเรื่องของความปลอดภัยและเป็นมาตรการบิน ที่มีการกำหนดให้พื้นที่ผิวลาดเอียงต้องมีความชันไม่เกิน 14.3% หรือเท่ากับอัตราส่วน 1:7
ทั้งนี้ในที่ประชุมตนได้ยกมือคัดค้าน และให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากมองว่าเป็นการขายดิน เพราะดินเป็นของรัฐที่ไม่สามารถนำออกไปได้ แม้แต่เกษตรกรเคยมีปัญหาเคยขุดดินไปให้โรงเรียน ก็ยังทำไม่ได้ และติดคุกมาแล้ว เช่นเดียวกับบริษัทที่จะนำดินไปทิ้งไว้ในพื้นที่ของบริษัท ก็ทำไม่ได้ ซึ่งถ้าจะปรับพื้นที่ดินก็ต้องอยู่ในพื้นที่เขตปฎิรูปที่ดิน สรุปที่ประชุมยังไม่อนุมัติในเรื่องนี้
เช่นเดียวกับ บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ได้ยื่นคำขอความยินยอมหรืออนุญาตใช้ประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดินต่อ ส.ป.ก. เพื่อดำเนินกิจการพลังงานประเภทกิจการปิโตรเลียมที่ได้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 สั่ง ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560 (คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 31/2560) ตั้งอยู่ในเขตปฎิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร จำนวน 49 คำขอ เนื้อที่ 834 ไร่ และจังหวัดสุโขทัย จำนวน 2 คำขอ เนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ รวมจำนวนคำขอทั้งสิ้น 51 คำขอ เนื้อที่รวมประมาณ 869 ไร่
วัตถุประสงค์เพื่อสนองต่อนโยบายการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงานในการพัฒนาประเทศ อันเป็นการช่วยลดภาระการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงตามคำสั่งของ คสช.แค่ให้สำรวจ เนื่องจากนํ้ามันเป็นทรัพย์สมบัติของประเทศชาติ ไม่ใช่ที่จะให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ไป ทรัพยากรดังกล่าวเป็นของคนไทยทั้งประเทศ แต่ไม่ได้รับความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินจาก ส.ป.ก. จึงเห็นว่าไม่อนุมัติ
สอดคล้องกับ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ทางรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้สั่งการในที่ประชุมให้ ส.ป.ก. ไปศึกษาในกรณีของทั้ง 2 บริษัท ให้รอบคอบ และรอบด้านก่อน ขณะที่ความคืบหน้าสำหรับเกษตรกรที่สนใจยื่นความประสงค์ขอออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรม โดยเปลี่ยน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดทั่วประเทศกว่า 3 หมื่นราย เป็นภาคสมัครใจ คาดจะเริ่ม Kick off แจกโฉนดเพื่อการเกษตรฉบับแรกพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 15 มกราคม 2567 โดยผลลัพธ์ที่ได้หลังจากเปลี่ยนเป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรมแล้ว เกษตรกรจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างหลากหลายมากขึ้น
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,945 วันที่ 3-6 ธันวาคม พ.ศ. 2566