สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดปี 2567 ผลผลิตปาล์มน้ำมันเดือนมกราคมจะมีประมาณ 1.063 ล้านตัน คิดเป็นนํ้ามันปาล์มดิบ 0.191 ล้านตัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2566 ที่มีผลผลิตปาล์มทะลาย 1.100 ล้านตัน คิดเป็นนํ้ามันปาล์มดิบ 0.198 ล้านตัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ราคาผลปาล์มน้ำมันขยับขึ้น
นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด (บจก.) ผู้ประกอบการขนส่งทางเรือและท่าเทียบเรือ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดผลปาล์มนํ้ามันทั้งทะลาย เปอร์เซ็นต์นํ้ามันปาล์ม 18-19% ณ วันที่ 22 มกราคม 2567 อยู่ที่ 7 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ถือเป็นสถิติสูงสุดรอบ 1 ปี 6 เดือน มีปัจจัยบวกจากผลผลิตปาล์มนํ้ามันของเกษตรกรลดลง ส่งผลให้โรงงานทั้งโรงสกัดนํ้ามันปาล์ม และโรงกลั่นนํ้ามันปาล์ม มีการแข่งขันกันซื้อมากขึ้น
ทั้งนี้จากราคาปาล์มที่ดีผลประโยชน์ตกอยู่กับเกษตรกร ขณะที่ในเร็วนี้ ๆ จะมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เรื่องผู้ประกอบการจุดรับซื้อผลปาล์มนํ้ามัน (ลานเท) ห้ามแยกขายลูกร่วง โดยใช้ตะแกรง หรือรางเทสำหรับลำเลียงทะลายปาล์มนํ้ามัน หรืออุปกรณ์สิ่งอื่นใดสำหรับแยกผลปาล์มนํ้ามันร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ จะทำให้โรงงานนำผลปาล์มเข้ากระบวนบีบสกัดได้เปอร์เซ็นต์นํ้ามันที่ดีมากขึ้น และจะส่งผลต่อดีต่ออุตสาหกรรมปาล์มดีทั้งระบบ จากปัจจุบันนํ้ามันปาล์มดิบ(ซีพีโอ)ในประเทศไม่มีการส่งออก เพราะราคาในประเทศสูงกว่าราคาต่างประเทศ กก.ละ 2 บาท
ขณะที่นายพันธ์ศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกระบี่ และกรรมการใน คณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวว่า จากที่ไม่มีการส่งออก จะทำให้สต๊อกนํ้ามันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดผลผลิตปาล์มจะเริ่มออกมามากในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานส่งสัญญาณมาแล้วว่าจะยกเลิกอุดหนุนการชดเชยราคานํ้ามันไบโอดีเซล (ปัจจุบันอุดหนุนอยู่ 3.47 บาทต่อลิตร) เพื่อให้ราคาจำหน่ายเป็นไปตามกลไกตลาด
รวมทั้งราคาไบโอดีเซล (B100) จะไม่มีการนำเงินกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง ไปชดเชยราคาอีกต่อไป เนื่องจากฐานะกองทุนนํ้ามันฯ ล่าสุดที่รายงาน โดยสํานักงานกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (สกนช.) ณ วันที่ 14 ม.ค. 2567 พบว่ากองทุนฯ ยังติดลบ 81,294 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) โดยจะประกาศยกเลิกภายในวันที่ 24 กันยายน 2567 (จากเดิมมาตรการจะสิ้นสุดปี 2569)
“ล่าสุดมีข่าวว่าการยกเลิกการชดเชยราคาจะขยับเร็วขึ้นเป็นเดือนมีนาคม ซึ่งจะได้นำเรื่องดังกล่าวหารือในที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน โดยในคณะมีกรรมการจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายราชการจากกระทรวงเกษตรฯ อุตสาหกรรม พาณิชย์ รวมถึงภาคเอกชน ที่มาจากโรงสกัดนํ้ามันปาล์ม โรงกลั่นนํ้ามันปาล์มด และเกษตรกร เพื่อช่วยกันหามาตรการรองรับว่าหากไม่มีมาตรการนี้จะทำอย่างไรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มไม่ให้เกษตรกรขายปาล์มขาดทุน”
ขณะที่นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มนํ้ามันแห่งประเทศไทยและกรรมการคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสมดุลนํ้ามันปาล์ม กล่าวว่า หากเกษตรกรยกระดับเปอร์เซ็นต์นํ้ามันปาล์ม จะสามารถส่งออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้น โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยราคานํ้ามันเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือมีมาตรการอุดหนุนการส่งออกโรงงาน กก.ละ 2 บาทได้ในอนาคต รวมถึงต้องใช้กฎหมายของ กกร.เรื่องห้ามลานเททำให้ผลปาล์มนํ้ามันร่วงอย่างไม่เป็นธรรมชาติที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในเร็ว ๆ นี้
“ที่ผ่านมาโรงงานอ้างเหตุผลหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาผลปาล์มราคาตํ่า เพราะมีการแยกลูกร่วง ดังนั้นหากมีกฎหมายออกมาระบุชัด หากลานเทฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการขายแยกลูกร่วงจะมีเฉพาะภาคใต้ ส่วนภาคอื่นๆ จะขายรวม”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,960 วันที่ 25-27 มกราคม พ.ศ. 2567
จัดระเบียบลานเท