รวมถึงบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Emissions) ในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) ตามที่ไทยได้ให้สัญญาไว้กับประชาคมโลก
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยอัพเดตความคืบหน้าของโครงการฯ ว่า เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 ทางกรมฯ ได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือและดำเนินการประเมินคาร์บอนเครดิตในภาคการเกษตรกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยมีนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม
ทั้งนี้จากแผนการพัฒนาต้นแบบในการจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร มีเป้าหมายพืชเศรษฐกิจสำคัญในกลุ่มนำร่อง 7 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มนํ้ามัน ยางพารา ทุเรียน และมะม่วง ซึ่งมีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ
โดยในประเทศนอกจากหน่วยงานภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ เช่น กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ GISTDA แล้ว ยังมีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตร่วมดำเนินการ เช่น บริษัทนํ้าตาลมิตรผล ในอ้อย, บริษัทสยามคลอลิตี้สตาร์ชฯ ในมันสำปะหลัง, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยและบริษัทสมาชิก เช่น ซีพีเอฟ เบทาโกร เป็นต้น ในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, บริษัททักษิณปาล์มฯ และบริษัทอาร์ดีเกษตรพัฒนา ในปาล์มนํ้ามัน, บริษัทไทยอีสเทิร์นฯ ในยางพารา,บริษัทวรุณา และบริษัทเวฟ บีซีจีในไม้ผล เป็นต้น ส่วนองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน(GIZ) และธนาคารโลก เป็นต้น
“หลังจากที่กรมวิชาการเกษตรได้ลงนาม MOU ร่วมกับ อบก. เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กรมฯ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ อนุกรรมการ ด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก และคณะทำงานในแต่ละชนิดพืช โดยมีองค์ประกอบจากทั้งหน่วยงานราชการ และเอกชนที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการประชุมหารือและวางแนวทางตลอดจนแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง”
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ได้มีการเปิดตัวโครงการ “DOA Green Together” แปลงต้นแบบการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในการผลิตพืช และแนวทางปฏิบัติในการลดก๊าซเรือนกระจกของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญในภาคใต้ เช่น ปาล์มนํ้ามัน และยางพารา ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่
ในเบื้องต้น การพัฒนาแปลงต้นแบบของทั้ง 7 ชนิดพืช กรมฯ ได้ใช้พื้นที่ของหน่วยงานในสังกัดที่ตั้งอยู่ในแต่ละภูมิภาคในการดำเนินงาน ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างจัดทำ Baseline (ค่าฐานการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)ในพื้นที่ปลูกพืชของเกษตรกรที่อยู่ในขอบข่ายของหน่วยงานภาคีในแต่ละชนิดพืช และจะทำการขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญของแต่ละชนิดพืช เพื่อให้ได้ค่าฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ (National Baseline) ต่อไป ทั้งนี้จากการดำเนินงานในแปลงนำร่องคาดว่าจะได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตเร็วที่สุดภายในปี 2567 ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการขยายการดำเนินงานสู่ภาคเกษตรกรที่มีศักยภาพต่อไป
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า โดยสรุปขั้นตอนหรือกระบวนการเพื่อนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต คือ 1.ทางกรมฯ จะพัฒนาต้นแบบในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ ได้แก่ การจัดทำแปลงตัวอย่าง, การจัดทำ National Baseline, รูปแบบมาตรฐานเอกสารโครงการ, แบบฟอร์มการเก็บและบันทึกข้อมูล รวมถึงมาตรฐาน GAP Carbon Credit Plus
2.ขยายผล โดยการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต ให้แก่เกษตรกร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ โดยการส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกระทรวง และองค์กรเอกชนเป็นพี่เลี้ยงในการดำเนินงาน หรือเป็นผู้พัฒนาโครงการให้กับเกษตรกร
3.รับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งกรมวิชาการเกษตรอาจเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้น หรือใช้บริการจากหน่วยงานภาคีที่ได้รับการรับรองให้เป็นผู้ประเมิน และ 4.ส่งเสริมการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง
“เพื่อให้การดำเนินงานเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืน ทางกรมฯจึงพัฒนาด้วยการใช้ฐานข้อกำหนดของ GAP ที่มีอยู่เดิม เช่น พื้นที่ต้องมีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีการบุกรุกป่า การจัดการปุ๋ยอย่างถูกวิธี รวมถึงการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน เป็นต้น โดยพัฒนาให้เป็น GAP Carbon Credit Plus ที่ครอบคลุมการดำเนินงานทั้งในส่วนความเข้มข้นของการบันทึกการจัดการในแปลง และแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ เพื่อที่จะไปคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตต่อไป”
ขณะเดียวกันการที่จะได้คาร์บอนเครดิต ต้องมีการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกผ่านกลไกมาตรฐาน โดยในต่างประเทศ เช่น VERRA, Gold Standard, CDM เป็นต้น ส่วนของไทยคือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ อบก. หากมีการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่ได้เสนอโครงการภายใต้กรอบกลไกใดๆ จะไม่ถือว่าเป็นคาร์บอนเครดิต
"เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะเริ่มจากการดำเนินงานในพืชนำร่อง 7 ชนิด แล้วขยายไปยังพืชเศรษฐกิจหลักชนิดอื่นที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตรให้ครอบคลุม ตลอดจนลดการปลดปล่อยในพื้นที่นาข้าว ด้วยการปลูกพืชทดแทนเช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการบริหารกรมวิชาการเกษตร มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งกองใหม่ เพื่อรองรับแนวทางในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีชื่อว่า กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร”
โดยจะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการศึกษาวิจัยที่ประกอบด้วย พืชกลุ่มกัญชา กัญชง กระท่อม รวมถึงพืชเศรษฐกิจใหม่ ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นพืชที่มีอนาคตต่อเศรษฐกิจ ในด้านการส่งออก หรือเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นอาหารแห่งอนาคต เช่น หมาก มะพร้าวน้าหอม ไข่ผำ กาแฟอัตลักษณ์ ไม้เศรษฐกิจกักเก็บคาร์บอน และพืชที่มีศักยภาพเป็นพืชโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น
โครงสร้างของกองใหม่ได้ผนวกรวมกลุ่มวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร ซึ่งจะดำเนินงานทั้งในส่วนของการศึกษาวิจัยแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาวิธีดำเนินการเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต และการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในการจัดการและเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3898 วันที่ 22 -24 มิถุนายน พ.ศ. 2566