“นฤมล”เผย“นายกฯ เศรษฐา”ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ปี 2566 เพิ่มกระฉูด 72%

09 ก.พ. 2567 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2567 | 04:49 น.

“นฤมล“เผย “นายกฯ เศรษฐา” ในฐานะหัวหน้าทีมไทยแลนด์ ดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ปี 2566 เพิ่มกระฉูด 72% จีนครองอันดับหนึ่ง 25% ของมูลค่าทั้งหมด

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานด้านการค้าและการลงทุนของทีมไทยแลนด์ โดยได้เปิดเผยตัวเลขด้านการลงทุนจากการทำงานของทีมไทยแลนด์ ภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่า องคาพยพด้านการลงทุนที่สำคัญ คือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 

โดยปี 2566 ในภาพรวม มีโครงการขอรับการส่งเสริม 2,307 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 16 มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 43 ซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย นำไปสู่การจ้างงาน และ การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีระหว่างบริษัทต่างชาติกับผู้ประกอบการไทย 

                        “นฤมล”เผย“นายกฯ เศรษฐา”ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ปี 2566 เพิ่มกระฉูด 72%

ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 72 โดยหากพิจารณาประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 159,387 ล้านบาท สิงคโปร์ 123,385 ล้านบาท และ สหรัฐอเมริกา 83,954 ล้านบาท 

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ประเทศจีนประเทศเดียว มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 25 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั้งหมด สำหรับประเทศญี่ปุ่น มีมูลค่า 79,151 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 แต่นับว่ายังเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 จากปีก่อน นักลงทั้งทุนจากทั้ง 4 ประเทศจึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย

“นายกฯ เศรษฐา ได้มอบนโยบายให้ทีมไทยแลนด์ทุกคน ร่วมกันทำงานเพื่อดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพื่อส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างต่อเนื่องต่อระบบเศรษฐกิจไทย ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันเองในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภค และเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์อีวี อุตสาหกรรม BCG ทำให้เกิดการจ้างงาน” 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถลงทุนในต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิตของตนเอง และใช้สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนไปเปิดตลาดใหม่ในประเทศเป้าหมาย