ข้าวโพดรุกป่า-เผาตอซัง “ไม่มีที่ยืน” โลกเรียกหาใบรับรองแหล่งที่มา

15 ก.พ. 2567 | 10:21 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 10:40 น.

ข้าวโพดปลูกรุกพื้นที่ป่า และการเผาตอซังสร้างมลภาวะกระทบสิ่งแวดล้อม กำลังจะไม่มีที่ยืน จากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ประกาศไม่รับซื้อ ขณะที่คู่ค้าเรียกหาใบรับรองแหล่งที่มา

บทความโดย : สมภพ เอื้อทรงธรรม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย

ในปี 2567 ประเทศไทยจะมีการผลิตอาหารสัตว์ 21.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 6.29% จากการฟื้นตัวของผู้เลี้ยงสุกรและการขยายตัวของตลาดไก่เนื้อส่งออก ส่งผลให้ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 8.4 ล้านตันเป็น 8.9 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูกาลผลิต 66/67 ประเมินไว้เพียง 4.89 ล้านตัน ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อมาผลิตอาหารสัตว์กว่า 12 ล้านตันต่อปี

ปัจจุบัน การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ อาทิ กากถั่วเหลืองซึ่งมีการนำเข้าปีละกว่า 3 ล้านตัน จะต้องมีการขอเอกสารใบรับรองแหล่งผลิตสินค้ายั่งยืน จากประเทศต้นทาง ในส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีหน่วยงาน U.S. Soy Sustainability Assurance Protocol เป็นผู้ออกเอกสารรับรองให้ และถั่วเหลืองที่นำเข้าจากประเทศบราซิล จะต้องมีใบรับรองว่าผลผลิตไม่ได้มาจากการรุกป่าอเมซอน ทั้งหมดนี้เป็นการตอบสนองตลาดสินค้าปศุสัตว์ในอนาคต ที่กำหนดให้มีการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่บุกรุกทำลายป่า

ข้าวโพดรุกป่า-เผาตอซัง “ไม่มีที่ยืน” โลกเรียกหาใบรับรองแหล่งที่มา

ในส่วนของประเทศไทย ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อใช้ภายในประเทศได้ประมาณ 8 ล้านตัน โดยมีสินค้าหลักได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลายข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งต่อจากนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์จะต้องกำหนดเงื่อนไขการรับซื้อเช่นเดียวกับสินค้านำเข้า ดังนั้น สินค้าทั้ง 3 ตัว จะต้องมีการออกใบรับรองแหล่งผลิตที่ยั่งยืนประกอบการขาย และที่มากไปกว่านั้น คือจะต้องแสดงถึงตัวเลขการปลดปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสินค้าตัวนั้น เพื่อประกอบการพิจารณารับซื้อด้วย

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย มีความพยายามที่จะส่งสัญญานไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้เร่งพัฒนาการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทย รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างการผลิตให้เพาะปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมมาโดยตลอด ไม่สนับสนุนการบุกรุกป่า การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้สินค้าเนื้อสัตว์ไม่สามารถส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศได้แล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควัน PM2.5 อยู่ในขณะนี้

ข้าวโพดรุกป่า-เผาตอซัง “ไม่มีที่ยืน” โลกเรียกหาใบรับรองแหล่งที่มา

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อดีตนายกสมาคมพ่อค้าพืชไร่ลุกขึ้นอภิปรายเรียกร้องให้ขึ้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้วยการขึ้นภาษีวัตถุดิบนำเข้า เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ เพื่อลดการนำเข้า เช่นนี้สะท้อนว่า สส.ท่านนั้นไม่ได้ศึกษาเทรนด์ของโลก ไม่มองภาพรวมตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหาร ไม่เห็นอนาคตว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ต้องมีการพัฒนาอย่างไรจึงจะขายได้ หวังเพียงขายของให้ได้ราคาแพง โดยไม่สนใจว่าพืชที่ผลิตนั้นมีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการหรือไม่ หรืออาจเป็นเพราะมี Conflict of Interest ผลประโยชน์กับธุรกิจพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อข้าวโพดราคาถูกจากเกษตรกร และนำไปขายให้โรงงานอาหารสัตว์ในราคาแพง จึงมีความพยายามที่จะสร้างอุปสรรคไม่ให้การนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เกิดขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น 

ขอยืนยันว่าจากนี้ไปจะไม่มีใครสามารถรับซื้อข้าวโพดที่ไม่มีใบรับรองได้  ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ และดำเนินโครงการ “ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ” เท่านั้น แต่ทุก ๆ โรงงานอาหารสัตว์ จำเป็นต้องใช้ใบรับรองแหล่งที่มาของวัตถุดิบนี้ไปแสดงกับประเทศคู่ค้าที่รับซื้อผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อไก่ ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับ 3 ของโลก

หากข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านมีราคาสูง แต่มีใบรับรองแหล่งที่มาได้ ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ย่อมต้องยอมจ่าย เพื่อลดปัญหาการค้ากับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหภาพยุโรป 

ข่าวดีที่ได้ยินมา คือรัฐบาลทหารเมียนมาให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน เพียงแค่เขายังไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาดและไม่มีเทคโนโลยีการจัดการแปลงปลูก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมมลพิษจากประเทศไทย กำลังจะไปสาธิตการเพาะปลูกพืชไร่ที่ลดการเผาใน 2 หมู่บ้านนำร่องของเมียนมา เพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น หากสำเร็จการนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมาจะมีเอกสารรับรองแหล่งที่มาที่ถูกต้อง เมื่อนั้น ข้าวโพดไทยที่ไม่มีเอกสารรับรอง จะไม่สามารถแข่งขันด้านคุณภาพกับข้าวโพดเมียนมาได้เลย ขณะที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ก็เพิ่งมาเยือนไทยและเชื่อว่า ท่านนายกเศรษฐา ทวีสิน ได้หารือในประเด็นฝุ่น PM2.5 และ หมอกควันข้ามแดนไปด้วยแล้วเช่นกัน 

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า จะไม่มีที่ยืนสำหรับพืชไร่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป การเจรจาเรื่องราคาจะเป็นประเด็นสุดท้าย หลังจากมาตรฐานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านเกณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมแล้วเท่านั้น หวังว่าทุกคนในห่วงโซ่การผลิตอาหารจะเข้าใจและเร่งปรับตัว เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจของชาติในทิศทางแห่งความยั่งยืน