รายงานข่าวจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์เครือซีพี (FIT) ได้ร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจ และเกษตรกร สนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวรับกระแสโลก โดยเพาะปลูกด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการปลูกและการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการไถกลบตอซังหรือเศษวัสดุแทนการเผา เพื่อช่วยรักษาดินให้ชุ่มชื้น ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้บริโภค
นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ กล่าวว่า ในฐานะเป็นผู้จัดหาสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบหลักอาหารสัตว์ ได้ร่วมมือกับคู่ค้าผู้รวบรวมวัตถุดิบทางการเกษตร และเกษตรกรรายย่อยในการสร้างห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยั่งยืน รวมถึงแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ผ่านการดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน”
ทั้งนี้เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกรที่เพาะปลูกในพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีแนวปฏิบัติในการเพาะปลูกที่ปลอดฝุ่นและปลอดการเผา เน้นใช้วิธีไถกลบตอซังหลังเก็บเกี่ยว เพื่อลดปริมาณฝุ่น ช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ส่งผลให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้จัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในพื้นที่จริงเพิ่มเติมในจังหวัดนครราชสีมา อุทัยธานี พิษณุโลก และลำปาง ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 25,000 ไร่ โดย บริษัทฯ ยังให้บริการตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดินให้กับเกษตรกรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งมีส่วนช่วยเกษตรกรสามารถปรับใช้ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้นำระบบดาวเทียมมาช่วยวิเคราะห์จุดที่ยังมีการเผาหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ลงไปแนะนำเกษตรกรในการลด ละ และเลิกการเผาตอซัง เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองจากการเพาะปลูกที่ยั่งยืนและยังช่วยเกษตรกรลดค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยบำรุงพืชและดิน
“บริษัทฯ ยังได้จัดจุดรับซื้อพิเศษที่ใกล้กับพื้นที่ปลูกของเกษตรกร เพื่อลดจำนวนเที่ยวรถขนส่งข้าวโพดไปโรงงาน และฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากการขนส่งผลผลิต พร้อมทั้งลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร และยังอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรเข้าถึงความรู้ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ และแอปพลิเคชั่น ที่มีชื่อว่า For Farm”
นายวรพจน์ กล่าวด้วยว่า บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นในการจัดซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่าและร่วมปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดบนเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Traceability) ที่เพิ่มความโปร่งใสและความเชื่อมั่นว่าข้าวโพดที่ใช้สำหรับกิจการในประเทศไทยทั้งหมด 100% สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งปลูกที่ปราศจากการบุกรุกป่าหรือตัดไม้ทำลายป่า และยังได้ขยายการดำเนินการไปยังกิจการในต่างประเทศอีกด้วย