จากข้อร้องเรียนของสมาคมประมงหลายจังหวัด ได้ยื่นหนังสือผ่านร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาหาแนวทางหรือมาตรการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าสัตว์นํ้าตกตํ่า เนื่องจากมีการนำเข้าสัตว์นํ้ามาจำหน่ายในประเทศ ส่งผลให้ชาวประมงประสบภาวะขาดทุน และมีข้อเสนอ อาทิ ให้หยุดการนำเข้าสัตว์นํ้า หรือกำหนดปริมาณสัตว์นํ้านำเข้าให้สอดคล้องกับความต้องการในประเทศ หรือให้กำหนดการจัดเก็บภาษีนำเข้า เป็นต้น
แหล่งข่าวจากกรมประมง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมประมงได้พิจารณาข้อร้องเรียนข้างต้น โดยในเรื่องการให้หยุดนำเข้าสัตว์นํ้า หรือกำหนดปริมาณสัตว์นํ้านำเข้า ไม่สามารถทำได้เพราะขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ห้ามใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าและส่งออกทุกชนิด ส่วนการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษี กรมประมงไม่มีการจัดเก็บภาษีนำเข้า เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเป็นภารกิจของหน่วยงานอื่น
อย่างไรก็ดีที่ผ่านมากรมประมงได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และ พ.ศ.2565โดยกรณีนำเข้า (ฉ)สัตว์ชนิดอื่นตัวละ 200 บาท กรณีที่ไม่สะดวกในการนับจำนวนให้คิดเป็น กก.ละ 200 บาท ส่วนใบอนุญาตนำซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร (ก) ซากสัตว์เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ กก.ละ7 บาท และ (ข) ซากสัตว์ที่ไม่ใช้เพื่อการบริโภค กก.ละ 3 บาท ซึ่งปัจจุบันกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้ยกเว้นค่ารรมเนียมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสัตว์และซากสัตว์ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของกรมประมง และอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียม
อย่างไรก็ดีในร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในสภา หนึ่งในมาตรา ได้ให้อำนาจจัดเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าได้ไม่เกินกก.ละ 20 บาท เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการรออกกฎกระทรวงและค่าอากร และค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราแนบท้าย กล่าวคือ สามารถกำหนดได้ 1-2 บาท/กก. หรือยกเว้นก็ได้
ยกตัวอย่าง สินค้าทูน่า กำหนดค่าธรรมเนียมนำเข้า 1 บาท/กก. หากนำเข้ามา 1 ตู้ ปริมาณ 25 ตัน หรือ 25,000 กก. จากเดิมไม่เสียค่าใช้จ่าย จะต้องจ่าย 25,000 บาท ต่อตู้ เมื่อคิดคำนวณ 8 แสนตันที่นำเข้ามา หากจ่าย กก.ละ 1 บาท จะต้องเสียค่าธรรมเนียมกว่า 800 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกรมประมงมีฐานในการพิจารณาว่าทำไม “ทูน่า” มีความเสี่ยงโรคระบาดตํ่าตามประกาศขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) จึงคิดค่าธรรมนียม 1 บาท/กก. ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มทูน่าร้องว่าเก็บค่าธรรมเนียมสูงไป ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงโรคสูง อาทิ ปลากะพงขาว ปลาเก๋า ,และกลุ่มกุ้งทะเล 3 ชนิด จะเก็บค่าธรรมเนียม กก. ละ 2 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้บรรยากาศในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์นํ้าตกตํ่า(8 ก.พ. 67) ยังมีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ในส่วนของกลุ่มปลา มีผู้ประกอบการปลากระป๋อง เสนอให้แยกการนำเข้าปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอเรล จากเป้าหมายสินค้าเป็นผู้มีรายได้น้อย และเป็นสินค้าควบคุมราคาขายปลีกของกระทรวงพาณิชย์ หากเก็บค่าธรรมเนียมจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ได้รับผลกระทบ อาจต้องพิจารณาในการนำมาประเมินความเสี่ยงด้วย ดังนั้นในที่ประชุมยังสรุปกันไม่ได้ รวมทั้งทางสมาคมต่างๆขอไปหารือกับสมาชิกอีกครั้ง เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่าการเก็บค่าธรรมเนียมสูงเกินไปโดยจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ นี้
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า เรื่องการเก็บค่าธรรมเนียม ยังให้ความคิดเห็นไม่ได้ขอเป็นสัปดาห์หน้า ส่วนสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยได้รับการชี้แจงว่าอยู่ในขั้นตอนการหารือกับสมาชิก ยังไม่พร้อมที่จะให้ความเห็น
ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้นตอของปัญหานี้เกิดจากไอ้โม่งสำแดงเท็จในการนำเข้าสินค้า ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนรุนแรงจากราคาสัตว์นํ้าตกตํ่า จึงเป็นที่มาของการจัดระเบียบสัตว์นํ้านำเข้าในครั้งนี้
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,966 วันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2567