เปิด 10 สินค้าส่งออกดาวรุ่ง เม็ดพลาสติก-เคมีภัณฑ์ น่าห่วง

19 ก.พ. 2567 | 05:03 น.
อัพเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2567 | 05:27 น.

“พาณิชย์” วิเคราะห์ส่งออกไทยปี 67 ประเมิน 10 สินค้าดาวรุ่ง ขณะที่เม็ดพลาสติก-เคมีภัณฑ์ อาการน่าห่วง หลังเศรษฐกิจจีนชะลอตัว พบหลายประเทศอาเซียนมีแต้มต่อด้านภาษี ดึงดูดลงทุนต่างประเทศดีกว่า จากการทำ FTA ขณะที่ 10 อันดับผู้ส่งออกรายใหญ่มีผู้ประกอบการไทยติดโผแค่ 3 ราย

การส่งออกถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หากการส่งออกดีเศรษฐกิจก็เติบโต จากข้อมูลการส่งออกไทยปี 2566 มีมูลค่า 284,561.8 ล้านดอลลาร์ หดตัว 1.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 289,754.3 ล้านดอลลาร์ หดตัว 3.8 % ส่งผลให้ดุลการค้าปี 2566 ขาดดุล 5,192.5 ล้านดอลลาร์  

ขณะที่ปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ขยายตัว 1.99% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 10 ล้านล้านบาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษกิจ” เกี่ยวกับปัญหาการส่งออกสินค้าของประเทศไทยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปสู่ตลาดโลกค่อนข้างนิ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกเหมือนกัน จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีสัดส่วนการส่งออกขยับขึ้น อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น

ขณะที่การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ หรือ FDI ของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ทำหน้าที่ได้มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเทียบ FDI กับประเทศ อื่น ๆ ในภูมิภาคก็มีความหน้าสนใจและได้ดีเช่นเดียวกัน

โดยในปี 2566 มีโครงการขอรับการส่งเสริม 2,307 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16% มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,394 โครงการ เพิ่มขึ้น 38% มูลค่าเงินลงทุนรวม 663,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% โดยประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 159,387 ล้านบาท สิงคโปร์ 123,385 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 83,954 ล้านบาท สำหรับญี่ปุ่น มีมูลค่า 79,151 ล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 แต่มีอัตราขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60 จากปีก่อน

 

FTA หัวใจผลักดันส่งออก-ดึงลงทุนต่างชาติ

นายพูนพงษ์มองว่า การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือี FTA จะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจัดทำ FTA ทั้งหมด 15 ฉบับรวม 19 ประเทศ แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนหลายประเทศมี FTA มากกว่าประเทศไทย ทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติ สนใจไปลงทุนในประว่าเทศที่มีแต้มต่อทางด้านภาษีมากกว่า ปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยโตขึ้น คือต้องเจรจาหาตลาดใหม่ๆ และการเร่งเจรจา เขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะฉบับไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งในฉบับนี้จะมีคู่ค้าทั้งหมด 27 ประเทศ 

ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายภูมิธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้เร่งรัดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คาดว่ามีแนวโน้มที่ดี หากมีการลงนามก็จะเกิดประโยชน์กับภาคเอกชนอย่างมาก เพราะจะเป็นแต้มต่อทางด้านภาษีและดึงดูดนักลงชาวต่างชาติมากยิ่งขึ้น

เปิด 10 สินค้าส่งออกดาวรุ่ง เม็ดพลาสติก-เคมีภัณฑ์ น่าห่วง

เปิดโครงสร้างสินค้าส่งออกไทย

หากพิจารณาจากโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. สินค้าเกษตร มีสัดส่วนประมาณ 9.4% 2.อุตสาหกรรมเกษตร มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 7.9% และ 3. สินค้าอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 83.7% ปี 2566 มีมูลค่าส่งออกรวม 284,561 ล้านดอลลาร์ หรือ 9.80 ล้านล้านบาท

โดยสินค้าที่มีการการส่งออก 10 อันดับแรก มีสัดส่วนถึง 45.5% ของมูลค่าการส่งออก ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร คือ ข้าว ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป, กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม คือ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ 

แต่ถ้าดูจากรายชื่อผู้ส่งไทย 10 อันดับแรก พบว่า เป็นสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทยเพียง 3 ราย ที่เหลืออีก 7 รายเป็นผู้ประกอบการต่างชาติ  ซึ่งก็ต้องมีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไทยมีสัดส่วนในการส่งออกให้มากยิ่งขึ้นให้มีความสมดุลกัน

ปัจจุบันการส่งออกของไทยจะมีทั้งตลาดสำคัญ และตลาดใหม่ ซึ่งตลาดสำคัญของประเทศไทยมีสัดส่วนการส่งออกตามลำดับ คือ อาเซียน 23.5% สหรัฐอเมริกา 17% จีน 12% ญี่ปุ่น 9% และสหภาพยุโรป 7.7% มีสัดส่วนการส่งออกรวมประมาณ 70% โดยสินค้าตลาดหลักที่มีการส่งออก โดยเฉพาะ ประเทศจีนคือ ผลไม้, มันสำปะหลัง, เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก ตลาดสหรัฐฯ คือคอมพิวเตอร์, ผลิตภัณฑ์ยาง, โทรศัพท์และอุปกรณ์, แผงโซลาร์เซลล์, รถยนต์

เปิด 10 สินค้าส่งออกดาวรุ่ง เม็ดพลาสติก-เคมีภัณฑ์ น่าห่วง

ส่วนตลาดใหม่มีสัดส่วนการส่งออกแต่ละประเทศ ดังนี้ ออสเตรเลีย 4.3% อินเดีย 3.6% เม็กซิโก 1.3% แอฟริกาใต้ 1.2% มีสัดส่วนรวมประมาณ 10% กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจเพราะว่าสัดส่วนการส่งออกยังไม่ไม่มากสามารถขยายตลาดได้อีก

เปิด 10 สินค้าส่งออกดาวรุ่ง เม็ดพลาสติก-เคมีภัณฑ์ น่าห่วง

วิเคราะห์ปัจจัยบวก-ลบส่งออกปี 67

กระทรวงพาณิชย์มองว่าการส่งออกในปี 2567 มีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่บรรเทาลง และการสิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลดีต่อปริมาณการค้าโลกให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น อักทั้งยังมีแรงหนุนจากการสำรองสินค้าเกษตรและอาหารตามความมั่งคงทางอาหาร และการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

อย่างไรก็ดีมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและต้นทุนสินค้า ผลกระทบจากภัยแล้งในหลายพื้นที่ทั่วโลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด 

อีกหนึ่งปัจจัยคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเฝ้าระวังเรื่องการโจมตีในทะเลแดง ที่ไม่อยากให้มีการขยายวงเพิ่ม เพราะถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป เส้นทางดังกล่าวใช้ในขนส่งโลกประมาณ 12% หลังจากมีการโจมตีเกิดขึ้นส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าระวางการขนส่งเส้นทางยุโรป เดิมอยู่ที่ 1,000-2,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 3,000-4,000 ดอลลาร์ต่อตู้ 20 ฟุต และเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ทางกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนมีการประชุมไปแล้ว 4 ครั้ง

“ตอนนี้เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งค่อนข้างมาก จึงต้องรักษาตลาดเดิมให้ได้ และเตรียมตัวเปิดตลาดใหม่ คาดว่าจากการทำงานและการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน ในเรื่องการเปิดตลาดใหม่ใหม่ รวมถึงการเตรียมกิจกรรม ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มากกว่า 400 กิจกรรมตลอดทั้งปี ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการทั่วประเทศให้สามารถส่งออกสินค้าในตลาดโลก” นายพูนพงษ์ กล่าว

เปิด 10 สินค้าส่งออกดาวรุ่ง เม็ดพลาสติก-เคมีภัณฑ์ น่าห่วง

สินค้าส่งออกดาวรุ่ง-ดาวร่วงปี 67

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้า 10 อันดับปี 2567 ได้แก่ 1.กลุ่มผลไม้ 2.ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 3.น้ำตาลทราย 4.รถยนต์และอุปกรณ์ 5.แผงวงจรไฟฟ้า 6.เครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ 7.แผงโซลาร์เซลล์ 8.อาหารสัตว์เลี้ยง 9. ผลไม้กระป๋อง10.เครื่องประดับ

ขณะที่สินค้าที่น่าเป็นห่วงคือ 1.เม็ดพลาสติก 2.เคมีภัณฑ์ เพราะมีการส่งออกไปตลาดจีนค่อนข้างเยอะ เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัว และเริ่มหันมามองเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งยังมีนโยบายสำคัญที่ต้องพึ่งพาตนเอง เพราะฉะนั้นก็อาจจะส่งผลให้มีการลดการนำเข้าเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งก็อยากให้ผู้ประกอบการเตรียมปรับตัว

อย่างไรก็ดี หากต้องการสร้างมูลค่าสินค้าทางเกษตร ภาครัฐและเอกชนต้องเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรในกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรมให้โตขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นสินค้าเกษตรแปรรูปที่มีมูลค่า อาทิ อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้แปรรูปกระป๋อง มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นหากมีการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น