อาณาจักร 5 แสนล้าน CPAXT “แม็คโคร-โลตัส” ขึ้นเบอร์ 1 ค้าส่ง-ค้าปลีกเอเชีย

17 ก.พ. 2567 | 18:02 น.

เปิดอาณาจักร “ซีพี แอ็กซ์ตร้า” 5 แสนล้าน ปรับโครงสร้างเสริมแกร่งธุรกิจ ควบรวมแม็คโคร-โลตัสเบ็ดเสร็จ สยายปีกธุรกิจครอบคลุมค้าปลีก- ค้าส่งเบอร์ 1 เอเชีย

KEY

POINTS

  • CPALL ไฟเขียวปรับโครงสร้างธุรกิจภายใน โดยประกาศรับโอนกิจการ "โลตัสส์ฯ (ประเทศไทย)" มูลค่า 7.68 พันล้านบาท พร้อมควบรวมกับ"เอก-ชัยฯ" จัดตั้งบริษัทใหม่
  • ผลประกอบการของ CPAXT ในปี 2566  ยังทำผลงานได้ดีเยี่ยม โดยทำรายได้รวม 489,949 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8,640 ล้านบาท โต 4% และ 12% จากปีก่อน
  • แผนรุกปี 67 การขายนอกร้าน โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายรวมเป็น 15% เพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้า Private Label และ วางแผนปรับโฉมสาขาและขยายสาขาเชิงรุก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

หลังกลุ่มซีพี ประกาศปรับโครงสร้างโยกกิจการโลตัสให้ไปอยู่ในมือ Makro (ชื่อในสมัยนั้น) ในเดือนสิงหาคม 2564  3 เดือนเศษต่อมา “แม็คโคร” ออกมาประกาศแผนซินเนอร์ยี กับ “โลตัส”  โดยมีพันธกิจคือ "การเป็นผู้นำค้าส่ง-ค้าปลีกอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย” ซึ่งหลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องเร่งด่วนของทั้งสองแบรนด์คือ จะทำอย่างไรที่จะให้โลตัสมีสภาพคล่อง และไม่ถ่วง Makro จนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหวาดผวา

หลังการปรับโครงสร้าง CP ทำให้ผู้ถือหุ้น Makro เห็นว่าการตัดสินใจของเขาไม่ผิด เพราะ กลุ่มธุรกิจแม็คโคร สามารถสร้างรายได้ 6 เดือนแรกของปี 2565 ได้ถึง 2.29 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 3,623 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 20% เส้นทางของกลุ่มธุรกิจแม็คโคร ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อเนื่องในปี 2566 เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนชื่อ “สยามแม็คโคร” (MAKRO) เป็น “ซีพี แอ็กซ์ตร้า” (CPAXT) พร้อมกับแผนรุกธุรกิจด้วยงบลงทุน 2.5-2.7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยเป็นการลงทุนของ “แม็คโคร” ราว 1.4 หมื่นล้านบาท และการลงทุนของ “โลตัส”  1.3 หมื่นล้านบาท ตลอดปี 2566 จึงเห็นการสยายปีกทั้งโมเดลเดิมและโมเดลใหม่ๆ

อาณาจักร 5 แสนล้าน CPAXT  “แม็คโคร-โลตัส” ขึ้นเบอร์ 1 ค้าส่ง-ค้าปลีกเอเชีย

การรุกเดินหน้าของ CPAXT เพิ่มสปีดรุนแรงขึ้น เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 2 ของปี 2567 เมื่อ CPALL ไฟเขียวปรับโครงสร้างธุรกิจภายใน โดยประกาศรับโอนกิจการ "โลตัสส์ฯ (ประเทศไทย)" มูลค่า 7.68 พันล้านบาท พร้อมควบรวมกับ"เอก-ชัยฯ" จัดตั้งบริษัทใหม่ โดยประกาศที่จะสร้างมูลค่าจากการผนึก 2 แบรนด์ เพิ่มความคล่องตัว-ลดความซับซ้อนโครงสร้าง

โดยบมจ. ซีพี ออลล์ หรือ CPALL แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัท ครั้งที่1/2567 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567  ได้มีมติที่สำคัญดังนี้

1. อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในกลุ่ม บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (“CPAXT”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ โดยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในกลุ่ม CPAXT ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารธุรกิจ โดยลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นและโครงสร้างองค์กรภายในกลุ่ม CPAXT

ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการและการบริหารทรัพยากร และสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรวมธุรกิจ (Synergy) ตลอดจนสร้างโอกาสในการเติบโตของกลุ่ม CPAXT ในอนาคต ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทฯ ในฐานะผู้ถือหุ้น ของ CPAXT

อาณาจักร 5 แสนล้าน CPAXT  “แม็คโคร-โลตัส” ขึ้นเบอร์ 1 ค้าส่ง-ค้าปลีกเอเชีย

แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในกลุ่ม CPAXT ได้แก่

  • CPAXT จะรับโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer: EBT) ของบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัทฯ และ CPAXT) (“Lotus's Thailand”) ซึ่งรวมถึง ทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของ Lotus's Thailand ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และที่จะมีใน อนาคต ณ วันที่โอนกิจการทั้งหมด

ทั้งนี้ ทรัพย์สินหลักของ Lotus's Thailand คือหุ้นในบริษัท เอก-ชัย ดีสท ริบิวชั่น ซิสเทม จกัด (“Ek-Chai”) (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัทฯ และ CPAXT) ที่ Lotus's Thailand ถืออยู่ในปัจจุบัน โดยมีมูลค่าของธุรกรรมทั้งสิ้น 7,680 ล้านบาท (“ธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมด”) โดยภายหลังจากธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดดังกล่าวแล้วเสร็จ Lotus’s Thailand จะดำเนินการเลิกบริษัททันที

  • ภายหลังธุรกรรมการรับโอนกิจการทั้งหมดแล้วเสร็จ CPAXT จะดำเนินการควบบริษัทกับ Ek-Chai ภายใต้ บทบัญญัติของ พ.ร.บ. บริษัทมหาชน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทเดิมทั้งสองบริษัทหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล และเกิดบริษัทมหาชนจำกัดขึ้นใหม่ (“บริษัทใหม่”) จากการควบบริษัท (“ธุรกรรมการควบบริษัท”) โดย บริษัทใหม่จะได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของ CPAXT และ Ek-Chai ทั้งหมด ภายหลังธุรกรรมการควบบริษัทแล้วเสร็จโดยผลของกฎหมายตามพ.ร.บ. บริษัทมหาชน
  • อาณาจักร 5 แสนล้าน CPAXT  “แม็คโคร-โลตัส” ขึ้นเบอร์ 1 ค้าส่ง-ค้าปลีกเอเชีย

ปี 66 กวาดรายได้กว่า 4.9 แสนล้าน

นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการของ CPAXT ในปี 2566  ยังทำผลงานได้ดีเยี่ยม โดยทำรายได้รวม 489,949 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 8,640 ล้านบาท โต 4% และ 12% จากปีก่อน ตามลำดับ โดยไตรมาส 4 ถือเป็นไตรมาสที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

จากปัจจัยบวกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ยอดขายสาขาเดิม (Same Store Sale) และการเปิดบริการสาขาใหม่ พร้อมปรับโฉมสาขารูปแบบใหม่ที่มีต่อเนื่องทั้งปีของทั้งแม็คโคร-โลตัส  การเพิ่มสัดส่วนยอดขายนอกสาขา ผ่านแอปพลิเคชัน Makro PRO, Lotus's SMART App และทีมนักขาย (B2B Salesforce) ที่เพิ่มขึ้น 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการขยายบริการจัดส่งสินค้าได้ในวันเดียว (Same Day Delivery) รวมถึงยอดขายสินค้าอาหารสดที่เติบโตดี และการเพิ่มพื้นที่ให้เช่าจากการปรับพื้นที่ศูนย์การค้า

อาณาจักร 5 แสนล้าน CPAXT  “แม็คโคร-โลตัส” ขึ้นเบอร์ 1 ค้าส่ง-ค้าปลีกเอเชีย

ส่วนปี 2567 CPAXT ตั้งเป้าหมายยอดขายโตต่อเนื่อง จากการขับเคลื่อนกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • การขายนอกร้าน โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายรวมเป็น 15% ภายในปีนี้ ซึ่งการขายผ่านแอปพลิเคชัน คาดว่าจะโตแบบก้าวกระโดด จากการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า พัฒนาด้านบริการ และการขยายพื้นที่ให้บริการลูกค้าด้วยการใช้จุดแข็งของธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกที่มีสาขารวมกันกว่า 2,600 แห่งทั่วประเทศ เป็นจุดกระจายและจัดส่งสินค้า กลยุทธ์เชิงรุกที่สำคัญคือการเดินหน้าพัฒนาทีมนักขายนอกร้านกว่า 1,400 คน ที่มีความเข้าใจ เข้าถึงลูกค้า เพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการได้อย่างครอบคลุม
  • ตอกย้ำความแข็งแกร่งด้านอาหารสด ต่อยอดพัฒนาอาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมทาน รวมทั้งการสรรหาสินค้าอุปโภคบริโภคที่หลากหลาย เพื่อสร้างความแตกต่างหลากหลาย พร้อมตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของบริษัทฯ (Private Label)
  • วางแผนปรับโฉมสาขา และขยายสาขาเชิงรุก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายศูนย์กลางชุมชนให้เป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตแบบสมาร์ทของคนทุกวัย โดยปีนี้เตรียมขยายในหลายรูปแบบและขนาดต่างๆ ตามกลุ่มลูกค้าแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ในส่วนของแม็คโครวางแผนขยาย 6-8 สาขา ส่วนโลตัสเตรียมขยายสาขาใหม่ในประเทศไทยและมาเลเซียมากกว่า 100 สาขา

นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างภายในกลุ่มธุรกิจโดยการผนึกกำลังธุรกิจค้าส่งแม็คโคร และธุรกิจค้าปลีกโลตัส มาอยู่ภายใต้บริษัทเดียวกันนั้น ยังเป็นการนำศักยภาพของทั้ง 2 แบรนด์มาสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกิจการและการบริหารทรัพยากร ลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้นและโครงสร้างองค์กรภายในกลุ่มบริษัท

อาณาจักร 5 แสนล้าน CPAXT  “แม็คโคร-โลตัส” ขึ้นเบอร์ 1 ค้าส่ง-ค้าปลีกเอเชีย

หากย้อนกลับไปดูอาณาจักรของ “CPAXT” ณ วันที่ 30 กันยายน 2566  พบว่า

กลุ่มธุรกิจค้าส่ง “makro” ซึ่งประกอบไปด้วย 6 แบรนด์ ได้แก่ แม็คโคร, แม็คโครฟู้ดเซอร์วิส, บัดดี้มาร์ท, Fresh@makro, LOTS และ Siam Frozen  เปิดให้บริการอยู่ใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย, อินเดีย, กัมพูชา, จีน, เมียนมาร์, เวียดนาม, สิงคโปร์ ,ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  มีพื้นที่จำหน่ายกว่า 8.76 แสนตร.ม. มีศูนย์จำหน่ายรวม 162 สาขา รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ “Makro PRO” ซึ่งในปีนี้แม็คโคร ตั้งเป้าขยายสาขาใหม่เพิ่ม 6-8 สาขา

ขณะที่ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก “Lotus's” ซึ่งประกอบไปด้วย 5 แบรนด์ ได้แก่ Lotus’s, Lotus’s go fresh, Lotus’s MALL, Lotus’s Privé และ Lotus’s Eatery  ปัจจุบันเปิดให้บริการใน 2 ประเทศ ได้แก่  ประเทศไทย  มีพื้นที่ให้เช่า 7.50 แสนตร.ม. มีสาขาทั้งสิ้น 2,459 สาขา และมาเลเซีย  มีพื้นที่ให้เช่า 3.23 แสนตร.ม. มีสาขาทั้งสิ้น 66 สาขา 

ซึ่งนอกจากการจำหน่ายผ่านหน้าร้านในสาขาต่างๆแล้ว ยังสามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ “Lotus's SMART App” ผ่านไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีอยู่กว่า 200 สาขา และมาร์เก็ตเพลสอื่นๆ เช่น Grab, Lazada, Robinhood, Shopee, FoodPanda ได้ด้วย โดยในปีนี้ โลตัสตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาทั้งในไทย-มาเลเซียเพิ่มกว่า 100 สาขา

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ O2O (Online to Offline) ถือเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจของแม็คโครและโลตัส รวมถึงการซินเนอร์ยีเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็น โมเดล “Hybrid Wholesale” ณ แม็คโคร สาขาสมุทรปราการซึ่งเป็นค้าส่งรูปแบบใหม่สาขาแรกในประเทศไทย ที่ผสานจุดแข็งของ แม็คโคร-โลตัส มอลล์ สู่การเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตของชุมชน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้ประกอบการและลูกค้าแบบ One Stop Service พร้อมสนับสนุนเจ้าของธุรกิจรายย่อย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน  ซึ่งล่าสุดปักหมุดสาขา 3 ณ มหาชัยไปเมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา

หรือจะเป็นโมเดล Lotus’s Eatery ที่ แม็คโคร-โลตัส ผนึกกำลังกันเปิดในรูปแบบศูนย์กลางอาหารและไลฟ์สไตล์ของชุมชน ที่รวมอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า 30,000 รายการ จากทั่วทุกมุมโลก ในราคาค้าส่งที่ดีที่สุด ผสานจุดเด่นของโลตัส ที่เชี่ยวชาญในการบริหาร Smart Community Center จัดเต็มกว่า 30 ร้านอาหารยอดนิยม ทั้งสตรีทฟู้ดชื่อดังและร้านมิชลินไกด์ เพื่อเติมเต็มไลฟ์สไตล์ กิน-ดื่ม-แฮงค์เอาท์โดยปักหมุดไปแล้ว 3 สาขา

นับจากนี้ยังต้องจับจ้องต่อไปว่า “แม็คโคร-โลตัส” จะผนึกกำลังสร้างโมเดลธุรกิจใหม่อะไรออกมา ที่จะสร้างสีสันและความแปลกใหม่ เพื่อเป็นการสร้างเส้นทางสู่ค้าส่ง-ค้าปลีกเบอร์ 1 ของเอเชีย