จากสถานการณ์ราคาหมูตกตํ่าทั่วประเทศ ทำให้เกษตรกรโดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้รับความเดือดร้อน จากบางพื้นที่ราคาขายสุกรมีชีวิตตํ่าถึง 50 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ทั้งที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 82 บาท/กก. ปัจจัยจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตทั่วประเทศเสียหายกว่า 40% และจากการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อนมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท ทำให้เกษตรกรขายสุกรขุนไม่ได้ เหลือสุกรขุนตกค้างในระบบการเลี้ยงจำนวนมาก ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ประชุมร่วมกับ 20 ฟาร์มสุกรรายใหญ่ทั้งครบวงจรและฟาร์มปกติ มีฉันทามติร่วมกัน ที่จะลดกำลังการผลิตลูกสุกรลง 450,000 ตัว ในระยะเวลา 90 วัน
นายสัตวแพทย์วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงโครงการการลดจำนวนลูกสุกรที่จะเข้าสู่ระบบการผลิตโดยการทำหมูหัน เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสุกรตกตํ่าจากปริมาณผลผลิตมากเกินความต้องการ ซึ่งมีเป้าหมายตัดวงจรลูกสุกรขนาด 3 - 7 กก. จำนวน 450,000 ตัว โดยชดเชยราคาซื้อลูกสุกรจากเกษตรกรตัวละ 400 บาท (จากราคาขายจริง 1,100 บาท) ใช้งบประมาณ 180 ล้านบาท แบ่งงบประมาณออกเป็นครั้งละ 30 ล้านบาท จำนวน 6 เฟส ที่ประชุมได้มีมติให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2567 โดยทางกรมปศุสัตว์ จะนำตัวเลขของพื้นที่แต่ละเขต เพื่อกำหนดออกเป็นโควตาให้กับบริษัท 20 ราย ในการผลิตหมูหัน (กราฟิกประกอบ) และ บมจ.สยามแม็คโคร เป็นบริษัทแรกที่จะช่วยรับซื้อหมูหันแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการตกลงราคา
“ในระหว่างการเจรจาเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยอยู่ได้ ก็มีการตกลงราคาระหว่างผู้ค้า โมเดิร์นเทรด ที่มีแผนปรับราคา 3 ระยะ เพื่อให้เกษตรกรขาดทุนน้อยที่สุด จากราคาหน้าฟาร์ม อยู่ที่ 64 บาท/กิโลกรัม โดยเริ่มจากวันพระแรก (17 ก.พ.67) จะปรับราคาหน้าฟาร์มขึ้นมา 2 บาท/กิโลกรัม เป็นราคา 66 บาท/กิโลกรัม ในวันพระที่ 2 ( 24 ก.พ. 67) ปรับเป็น 68 บาท/กิโลกรัม และวันพระสุดท้าย 3 มี.ค. 67 จะปรับราคาขึ้นเป็น 70 บาท/กิโลกรัม แต่ปรากฏว่า วันพระแรก (17 ก.พ.67) ก็ไม่มีการปรับราคาตามสัญญาก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”
ขณะที่นายเดือนเด่น ยิ้มแย้ม กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกรรมการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ราคาหมูเวลานี้ถูกบริษัทใหญ่ดัมพ์ราคาขายในตลาด ทำให้ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 57-58 บาท/กก. คาดว่าวันพระหน้า (24 ก.พ. 67) ราคาก็จะปรับลงอีก ส่วนโครงการที่จะตัดวงจรหมูออกจากระบบ ก็หวังว่าโครงการนี้จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้ราคาหมูดีขึ้น ก็ต้องยอมเฉือน เพราะเวลาขายหมูออกไปขาดทุนตัวละ 2,000-3,000 บาท แต่ถ้ามาขายในโครงการนี้ก็ขาดทุนแค่ตัวละ 400-500 บาท
“ต้องขึ้นอยู่กับฟาร์มว่าจะยอมเสียแบบไหน แล้วได้ประเมินในสภาวะแบบนี้ราคาหมูโอกาสที่จะปรับขึ้นมีน้อยมาก จากจำนวนหมูจากฟาร์มที่เกษตรกรเลี้ยงก็มีจำนวนมาก แล้วยังเชื่อว่าในห้องเย็นยังมีหมูเถื่อนที่ซุกไว้อีกเพียบ ที่จะแอบนำออกมาทยอยขาย ตอนนี้ทางสมาคมก็ได้แต่ขอความร่วมมือขอให้พ่อค้าหมูช่วยซื้อหมูให้ราคาสูงขึ้นมา แต่ก็เข้าใจเขาคงไม่อยากที่จะควักทุนออกมาซื้อ ก็จะยิ่งทำให้บริษัทมีกำไรน้อย ก็ไม่มีใครอยากให้ความร่วมมือเท่าไรนัก” นายเดือนเด่น กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,969 วันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567