3 ปีรัฐประหารเมียนมา 400 บริษัทไทยแห่ถอนตัว FDI วูบหนัก

13 มี.ค. 2567 | 05:31 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 06:20 น.

3 ปีรัฐประหารในเมียนมา FDI ทรุดหนัก ลงทุนต่างชาติวูบลงกว่าครึ่ง 400 บริษัทไทยแห่ถอนตัว ค้าไทย-เมียนมาปี 66 ติดลบ หลังค่าเงินจ๊าตผันผวน เงินเฟ้อพุ่ง กำลังซื้อวูบ ห่วงสถานการณ์ทวีความรุนแรง ระบุไม่ว่าฝ่ายทหาร หรือพลเรือนชนะ ส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองตามมาไม่รู้จบ

3 ปีหลังรัฐประหารในเมียนมา โดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก่อรัฐประหารรัฐบาลนางอองซาน ซูจี (เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 64) สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในเมียนมาตามมามากมาย ขณะที่ล่าสุดกองทัพทหารเมียนมาต้องสู้รบอย่างหนักหน่วงกับกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ ทำให้สถานการณ์ในเมียนมา ณ วันนี้ยังไร้ทางออก

กริช  อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

  • ความมั่งคั่งหดหาย 3 เท่าตัว

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมียนมาได้เผชิญกับปัญหาที่ค่อนข้างหนักกว่าประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อมามีการรัฐประหาร ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วง รัฐบาลได้ออกมาปราบปราม ทำให้เกิดการเสียชีวิตของประชาชน และชาติตะวันตกได้เข้ามาแทรกแซง ซึ่งการประท้วงได้แปรเปลี่ยนไปเป็นการออกมาต่อต้านรัฐบาล สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของประเทศเมียนมาอย่างรุนแรงตามมา

3 ปีรัฐประหารเมียนมา 400 บริษัทไทยแห่ถอนตัว FDI วูบหนัก

ด้านการค้าระหว่างประเทศของเมียนมาได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และจากเศรษฐกิจที่ถดถอย (ปี 2564 ที่เกิดรัฐประหารจีดีพีเมียนมาติดลบ 17.9% ปี 2565 ติดลบ 0.06% ปี 2566 ล่าสุดขยายตัว 2.5%) ทำให้ค่าเงินจ๊าตตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 ค่าเงินผันผวนอยู่ระหว่าง 1700-1800 จ๊าตต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ตกลงไปอยู่ที่ 4600 จ๊าตต่อดอลลาร์ ต่อมาได้มีการปรับตัวดีขึ้น

ปัจจุบันนี้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด อยู่ที่ 3500-3600 จ๊าตต่อดอลลาร์ ซึ่งยังคงสร้างความยากลำบากต่อประชาชนเมียนมาเป็นอย่างยิ่ง จากความมั่งคั่งของภาคประชาชน ได้หดหายไปเกือบ 3 เท่าตัว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อค่อนข้างจะรุนแรงมาก บางเดือนเคยกระโดดไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์

 อย่างไรก็ตาม แม้ค่าเงินจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง ค่าราคาสินค้า-บริการจะปรับสูงขึ้น แต่ก็ไม่สมดุลกับค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราอยู่ดี ขณะที่ค่าจ้างแรงงงานไม่ได้ปรับตัวตามค่าของเงิน หรืออัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดังนั้นความยากลำบากจึงตกอยู่ที่ประชาชน

 

  • FDI ไทย-เทศแห่ถอนลงทุน

ในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หลังจากเกิดการแทรกแซงจากชาติตะวันตก ทำให้เกิดการถอนทุนเสียเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่การลงทุนใหม่ ๆ จะมีเพียงจากบางประเทศ ที่ยังคงความเป็นมิตรกับประเทศเมียนมา เช่น จีน และไทย แต่ก็เป็นส่วนน้อย

“การลงทุนของไทยและต่างชาติในเมียนมาในเวลานี้มีน้อย มีจีนและไทยที่ยังมีการขยายการลงทุน แต่ก็มีน้อยมาก โดยการลงทุนในสินค้าพื้นฐาน เช่น เกษตร ประมง คอนซูเมอร์โปรดักส์ยังพอไปได้ และที่รัฐบาลเมียนมาให้การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษในเวลานี้คืออุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่จากสถานการณ์ในเมียนมาในเวลานี้ทำให้นักลงทุนถอนตัวมากกว่าเข้าไปลงทุนใหม่”

 ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทไทยที่เข้าไปทำธุรกิจการค้า และลงทุนในเมียนมาเวลานี้ บริษัทที่ทำธุรกิจการค้า การลงทุนในเมียนมาที่เคยมีมากกว่า 400 รายได้ทยอยถอนตัวออกมา เหลือที่ยังทำการค้า การลงทุนอยู่ราว 150 ราย โดยที่ถอนตัวออกมาส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา เช่น กลุ่ม ปตท. เครือซีพี SCG อิตาเลียนไทยฯ อมตะกรุ๊ป ยังคงรักษาฐานเพื่อรอโอกาสต่อไป

  • ท่องเที่ยวหาย-ส่งออกถดถอย

นายกริช กล่าวอีกว่า รายได้หลักของประเทศเมียนมาในอดีตได้จากการขายน้ำมัน อัญมณี หินหยก แร่ธาตุ สินค้าการเกษตรพื้นฐาน(ที่ยังไม่ได้แปรรูป) สินค้าประมง และการท่องเที่ยว เป็นหลัก แต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา การท่องเที่ยวเริ่มหดหาย การส่งออกลดน้อยถอยลง สินค้าการเกษตรมีเพียงไม่กี่ชนิดที่ยังคงมีประเทศคู่พันธมิตรที่ช่วยเหลือในการซื้อหาอยู่ แต่ตลาดใหญ่ยังคงเป็นการค้าชายแดนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็มีประเทศที่สามารถค้าชายแดนกับเมียนมาได้ไม่กี่ประเทศ เช่น ไทย จีน และอินเดีย เท่านั้น ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้ จึงอยู่ในช่วงที่ยากลำบากต่อประเทศเมียนมาเป็นอย่างยิ่ง

  • ธุรกิจไทยพับแผนลงทุน

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ในเมียนมาได้หยุดและพับแผนการลงทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากไม่มีความแน่นอนทั้งนโยบายเศรษฐกิจและความมั่นคง และหากมีเงินดอลลาร์รัฐบาลให้ไปแลกถือเป็นเงินจ๊าตที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง กำลังซื้อในประเทศหดตัวลง ค่าครองชีพสูง และการลงทุนจากประเทศอื่น ๆ หยุดชะงัก

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ทั้งนี้การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ (FDI) ในเมียนมาเคยขึ้นไปสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558-2559 โดยอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูงสุดคือ อุตสาหกรรมการผลิต และหลังรัฐประหาร FDI ในเมียนมาเหลือปีละ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหายไปกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วสัดส่วน FDI ในเมียนมา 70% เป็นการลงทุนด้านน้ำมัน รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมการผลิต มีบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของโลกที่ไปลงทุนในเมียนมา เช่น Voltalia (ฝรั่งเศส) POSCO (เกาหลีใต้) Chevron (สหรัฐฯ) ขณะที่ FDI จากเวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน เหลือศูนย์ ส่วน FDI จากสิงคโปร์ และไทยหายไปครึ่งหนึ่ง

ด้านผลกระทบด้านการค้าการค้าไทยกับเมียนมา ช่วง 3 ปีหลังเกิดรัฐประหารตัวเลขยังขึ้น ๆ ลง ๆ โดยปี 2565 การค้าไทย-เมียนมา มีมูลค่า 286,554.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.69% โดยไทยส่งออก 162,680.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.40% ไทยนำเข้า 123,873.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.75% และปี 2566 ล่าสุดการค้าไทย-เมียนมา มีมูลค่า 257,063.19 ล้านบาท ลดลง 10.29% โดยไทยส่งออก 151,882.78 ล้านบาท ลดลง 6.64% ไทยนำเข้า 105,180.42 ล้านบาท ลดลง 15.09%

“การปฏิวัติ หรือรัฐประหารที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในเมียนมา ไม่ว่าฝ่ายทหารหรือพลเรือนจะชนะ ความแตกแยกของชาติพันธุ์ต่าง ๆ จะยิ่งมีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจของเมียนมาตามมา”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3974 วันที่ 14 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2567