นายวนัส วิระพรสวรรค์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทยและกรรมการผู้จัดการบริษัทพาราวีเนียร์ 2002 จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”เกี่ยวธุรกิจโรงเลื่อยไม้ยางพาราว่า ตั้งแต่ปี 2566 -2567 แนวโน้มดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศจีน เวียดนาม เกาหลี นั้น โดยประเทศจีนซื้อไม้ยางแปรรูปจากประเทศไทยสูงสุดถึง 80% เชื่อว่าในอนาคตธุรกิจไม้ยางพารายังมีแนวโน้มที่ดี
ในส่วนของราคา ช่วงนี้มีการขยับปรับอยู่ในระดับที่ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้ โดยราคาลูกบาศก์เมตรละ 590 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่ส่งสินค้าไปถึงประเทศจีน ขนาดของไม้ขนาด 5/8 หรือ 5 หุน หนา 3 นิ้ว ยาว 110 เซนติเมตร ในอดีตที่ผ่านมาราคาดีมาก ลูกบาศก์เมตรละ 650 ดอลลาร์สหรัฐ เคยต่ำสุดเคยลงไปที่ 490 ดอลลาร์สหรัฐต่อลูกบาศก์เมตร
นายวนัส กล่าวว่าแนวโน้มตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ปริมาณการสั่งซื้อไม้ยางเพื่อส่งเข้าไปยังประเทศจีนและป้อนไปยังโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ มีความต้องการไม้ยางพาราจำนวนมาก เพราะไม้ยางที่จีนรับซื้อนั้น ไปใช้ 2 แบบ คือ
1.ผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์เป็น ตู้ เตียง โต๊ะ
2. จะมีการผลิตเป็นจิ๊กซอว์แผ่นพื้นโต๊ะ ก่อนหน้านี้ประเทศจีนสั่งซื้อไม้ยางจากเมืองไทยไปท่าเรือ จูไห่ และ เซินเจิ้น ก่อนที่จะกระจายสินค้าไปยังโรงงานในพื้นที่ภาคกลางของจีน แต่ปัจจุบันได้มีการขยายโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในภาคเหนือและภาคใต้ของจีนมากขึ้น
สำหรับธุรกิจไม้ยางพาราที่ผลิต 100% จากประเทศไทยจะมีการส่งออกสูงถึง 90% ส่วน10% มีการใช้ในประเทศไทย เพราะประเทศไทยนั้นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม่สามารถผลิตทำราคาต่ำกว่าประเทศจีนได้จึงไม่มีความสามารถในการแข่งขันเมื่อส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปขายประเทศอื่น ๆได้ การส่งออกไม้ยางพาราไปยังประเทศจีนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2,700,000 ลูกบาศก์เมตร มูลค่า FOB (Free on Board) ไทยอยู่ที่ 34,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนแนวโน้มในปี 2567 คาดว่าจะส่งออกไม้ไปยังประเทศจีนสูงถึง 3,000,000 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าการส่งออกจะอยู่ที่ 38,000 ล้านบาท ถึง 40,000 ล้านบาทแน่นอน ขณะที่ปัจจุบันธุรกิจไม้ยางในพื้นที่ ที่มีการล้มยางในแปลงตกตันละ 1,600บาท ถึง 1,700 บาทหากรับซื้อที่หน้าโรงเลื่อยจะอยู่ที่ ตันละ1,800 ถึงตันละ 2,000บาท
นายวนัส กล่าวอีกว่า ส่วนธุรกิจวู๊ดพาเลซหรือขี้เลื่อยไม้ยางอัดเม็ด ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าหรือโรงงานต่างๆนั้น จะผลิตมาจาก ไม้เบญจพรรณ ไม้ยูคา ไม้กฐินณรงค์และไม้ยางพารา โดยเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มีความต้องการใช้ วู๊ดพาเลซเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าและโรงงาน กำลังมีการเปลี่ยนพลังงานจากถ่านหินมาใช้วู๊ดพาเลช
ขณะนี้เกาหลีเป็นประเทศหนึ่งที่นำเข้าวู๊ดพาเลซมากที่สุด โดยนำเข้าจากเวียดนาม มาเลเซียและไทย ทั้งนี้ เวียดนามใช้ต้นกฐินณรงค์ เป็นเชื้อเพลิงทำวู๊ดพาเลซ ส่วนมาเลเซียและไทย ใช้ขี้เลื่อยจากไม้ยางผลิตวู๊ดพาเลซ ราคา FOB ไทยจะตกอยู่ที่ตันละ 4,500 บาท
ขณะนี้โรงงานในพื้นที่ภาคใต้ผลิตวู๊ดพาเลซมากขึ้น รวมถึงพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคเหนือของไทย เริ่มโค่นต้นยางพาราที่ครบอายุ จึงมีการตั้งโรงเลื่อยไม้ยางและขี้เลื่อยสำหรับผลิตเป็นวู๊ดพาเลซ นอกเหนือจากขี้เลื่อยไม้ยางพาราแล้ว ขี้เลื่อยหรือเศษไม้จากต้นกระถินณรงค์ ไม้ยูคา ก็เป็นวัตถุดิบในการผลิตวู๊ดพาเลซเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในเกาหลี ญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทยนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลดการใช้ถ่านหินในเหมืองแม่เมาะจังหวัดลำปาง แล้วใช้วู๊ดพาเลซเป็นพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในขณะนี้ธุรกิจไม้ยางพาราและวู๊ดพาเลซมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในเรื่องของการผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศ เพราะมีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าในปี 2567 ธุรกิจไม้ยาง และวู๊ดพาเลซ จะมีอนาคตที่ดี ที่จะนำเม็ดเงินจากการส่งออกเข้ากลับมายังประเทศไทย
นายภรภัทร โรจนมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัทเมกก้าวู้ด เปิดเผย “เศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางธุรกิจไม้ยางพาราในปี 2567 แนวโน้มขยับตัวดีขึ้นทั้งเรื่องของออเดอร์ที่มีเข้ามาตลอดรวมทั้งราคาขณะนี้พบว่าประเทศจีนได้มีการขยับขยายตั้งโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ไปยังเมืองรองในภาคกลางและภาคตะวันตกของจีนมากขึ้น จากก่อนหน้านี้โรงงานเฟอร์นิเจอร์จะกระจายอยู่บริเวณจีนตอนใต้แถบชายทะเล
สาเหตุที่จีนต้องสั่งซื้อไม้เข้ามาเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์และเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ยางขายไปยังประเทศต่างๆเพราะมีการเจรจาเรื่องของการตั้งกำแพงภาษีเพื่อกีดกันสินค้าจากจีนนั้น จีนได้เจรจากับประเทศต่าง ๆจนสามารถปลดล็อกเรื่องของกำแพงภาษีหรือมาตรการทางการค้าออกไปได้ ดังนั้นจึงทำให้มีออเดอร์จากประเทศไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรปและประเทศอื่นๆที่สั่งซื้อเฟอร์นิเจอร์จากประเทศจีน
ในส่วนของโรงงานซึ่งเป็นผู้ผลิตและแปรรูปมายางพาราในประเทศไทย ราคาไม้ยางที่รับซื้อในแปลงของเกษตรกรจะตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.90 บาทหรือตันละ 1,900 บาท แต่ในทางการค้ามีโรงเลื่อยรายอื่นๆก็ต้องทำการแข่งขันให้ราคาที่สูงขึ้นเพื่อนำไม้เข้ามาแปรรูปในโรงงาน เพื่อแปรรูปไม้ยางส่งให้ลูกค้าตามมาสั่งซื้อ เชื่อว่าในอนาคตทิศทางไม้ยางพารายังสดใสต่อเนื่อง