ราคาสินค้าเกษตร ส่วนใหญ่ของไทย ณ เวลานี้ยังคงมีความผันผวน ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มนํ้ามัน และสุกร จากปัจจัยทั้งภายในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ราคาเวลานี้เป็นอย่างไร และทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ฟังเสียงสะท้อนจากผู้นำเกษตรกร
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ราคาสุกรเวลานี้ยังตกตํ่า เกษตรกรขายได้ตํ่ากว่าต้นทุน ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) มีมติเห็นชอบอนุมัติของบประมาณ 180 ล้านบาท สนับสนุนการทำลายลูกสุกร จำนวน 4.5 แสนตัว ชดเชยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรตัวละ 400 บาท เริ่มแล้ว (11 มี.ค.)
ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือฟาร์มสุกรทั่วประเทศ ที่มีขนาดฟาร์มแม่พันธุ์ตั้งแต่ 2,000 แม่ นำลูกหมูออกจากระบบ 10% หรือ ประมาณ 200 ตัว มาทำหมูหันเป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป โดยพ่อค้าที่รับไปทำหมูหัน จะจ่ายเพิ่มให้เกษตรกรอีกตัวละ 150 บาท รวมแล้วเกษตรกรจะได้รับค่าลูกหมูตัวละ 550 บาท ส่วนผู้ค้าหมูหันในโครงการฯ คาดจะขายให้กับผู้บริโภคไม่ตํ่ากว่า 650 บาท/ตัว คาดจะได้ผลในระดับหนึ่ง
“หากจะใช้ยาแรง สมาคมมีข้อเสนอถึงรัฐบาล ผ่านกระทรวงพาณิชย์ หากดำเนินการตามนี้ภายใน 1เดือนจะเห็นผลทันที คือนำหมูส่วนเกินที่ยังล้นตลาดประมาณ 8,000 ตัวต่อวัน เมื่อแปรเป็นเนื้อจะได้ประมาณ 40 ตัน เพื่อเก็บในห้องเย็น ไว้เป็นสต๊อกไว้บริโภคในประเทศ พอใกล้หมดอายุ ก็เวียนออกมาขายให้กับโรงงานแปรรูปต่างๆ แล้วนำหมูใหม่หากยังเกินอยู่นำเข้าไปเก็บสต๊อก จะทำให้ราคาสุกรมีเสถียรภาพมากขึ้น”
นายพงศ์นเรศ วนสุวรรณกุล นายกสมาคมนํ้ายางข้นไทย และกรรมการผู้จัดการกลุ่มท่าฉางอุตสาหกรรม บริษัทผู้ผลิตนํ้ามันปาล์มครบวงจรรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า เวลานี้ยางพาราได้เข้าสู่ฤดูปิดกรีดแล้ว หลายโรงงานเริ่มหยุดรับซื้อ ที่เปิดอยู่ไม่น่าเกิน 30% มีชาวสวนบางคนยังกรีดอยู่ แต่นํ้ายางไม่ค่อยออกเพราะอากาศร้อน คาดจะเข้าสู่ฤดูเปิดกรีดยางใหม่ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เวลานี้ตลาดจีนยังชะลอตัว สวนทางกับราคายางในประเทศของไทยเวลานี้ขึ้นเร็วและแรง (ราคายาง ณ วันที่ 13 มี.ค. 67 เฉลี่ย 80-88 บาทต่อ กก.ขึ้นกับชนิดยาง) โดยยางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวขึ้น(อยู่ที่ 88 บาท/กก.)สูงกว่าราคาตลาดล่วงหน้าประมาณ 3 บาท/กก. สาเหตุอาจมาจากปลายปีที่แล้วฝนตกมาก พอกรีดได้ช่วงเดือนมกราคมก็แล้ง และยังเกิดโรคใบร่วงอีก ทำให้ผลผลิตมีน้อย ราคายางจึงพุ่งสูง แต่พอเข้าสู่ฤดูเปิดกรีดยางแล้วหากราคายังคงสูงอยู่ เกรงว่าผู้ซื้ออาจจะไม่มีกำลังซื้อ
“ความจริงอยากให้ราคามีเสถียรภาพ กล่าวคือเกษตรกรอยู่ได้ และปลายทางก็ซื้อได้มากกว่า โดยให้อยู่ราคาอยู่ระดับนี้หรือตํ่ากว่านี้เล็กน้อย อย่างไรก็ดีต้องรอลุ้นฤดูใหม่เป็นอย่างไร ถ้าผลผลิตออกมาน้อย ราคาอาจจะทรงตัว หรือราคาปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่ถ้าผลผลิตมาก ราคาก็อาจจะถอยลง ซึ่งในส่วนนี้ผู้ประกอบการได้หารือกับการยางแห่งประเทศไทยเพื่อขอซอฟโลนต์ ดอกเบี้ย 3% วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทให้ผู้ประกอบการ ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ในการซื้อยางทุกชนิดเก็บในช่วงผลผลิตออกมามาก”
ด้าน “ปาล์มนํ้ามัน” คาดผลผลิตจะออกมามากในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป ประกอบกับราคาในต่างประเทศผันผวน ปรับตัวขึ้น-ลงจากการอ้างอิงราคาต่างประเทศ แต่เป็นการผันผวนในช่วงแคบ หลังจากที่ผลผลิตออกแล้วต้องมาพิจารณาว่า ราคาในช่วงนั้นในประเทศสูงกว่า หรือ ราคาเท่ากับต่างประเทศ และสต๊อกในประเทศมีเท่าไร โดยรวมแล้วทั้งปาล์มและยางพาราปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง ราคาอยู่ในเกณฑ์สูง เกษตรกรน่าจะพอใจ
แหล่งข่าววงการค้าข้าว กล่าวถึง สถานการณ์ราคาข้าวเริ่มปรับตัวลงจากที่มีข้าวเปลือกนาปรังใหม่เริ่มทยอยออกมามากขึ้นปัญหาใหญ่ในขณะนี้คือ ชาวนาได้รับข่าวสารจากกรมอุตุฯ ว่าจะมีฝนตก หรือพายุเข้าทำให้เร่งเกี่ยวข้าวสด ส่งขายให้กับโรงสี เพราะกลัวข้าวเสียหาย ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะพอราคาตกลง (ข้าวเกี่ยวสด ความชื้นสูงลดลงอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นบาทต้นๆ ต่อตัน) ผู้ค้าหรือโรงสีตกเป็นจำเลยถูกกล่าวหากดราคา
ราคาข้าวเปลือก/ข้าวสาร ทั่วประเทศ ณ วันที่ 13 มีนาคม 2566
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,975 วันที่ 17-20 มีนาคม พ.ศ. 2567