ธรุกิจรีไซเคิลเศษเหล็กโต “มิลล์คอนฯ-เวสท์เทคฯ ”ลุยต่อยอดธุรกิจ

22 มี.ค. 2567 | 04:38 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2567 | 04:50 น.

การจัดการขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุดคือการรีไซเคิล โดยเฉพาะเศษเหล็กที่ว่ากันว่าสามารถสร้างเงินสร้างรายได้ไม่น้อย และเวลานี้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังบูมต่อเนื่อง

ธรุกิจรีไซเคิลเศษเหล็กโต “มิลล์คอนฯ-เวสท์เทคฯ ”ลุยต่อยอดธุรกิจ

บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด(WTX) ผู้นำด้านการรีไซเคิล รับซื้อขายเหล็กรูปพรรณ เศษเหล็กและย่อยเศษเหล็กเพื่อนำส่งโรงงานหลอม มีการบริหารจัดการเศษเหล็กโดยนำเทคโนโลยีเครื่องจักรมาใช้ดำเนินกิจการ มีกระบวนการจัดการชิ้นส่วนซากรถยนต์ได้แบบครบวงจรตามหลัก Zero Waste ด้วยเป้าหมายก้าวสู่การเป็น Green Business และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL และกรรมการบริหาร บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด (WTX) และนายศุภมงคล มาโนช  เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด ร่วมกันเปิดเผยถึงภาพรวมและทิศทางการแข่งขันในการจัดหาเศษเหล็ก การต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

ประวิทย์ หอรุ่งเรือง  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน)  และกรรมการบริหาร บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด

  • ราคาเศษเหล็กทรงตัวสูง

นายประวิทย์ กล่าวว่า ภาพรวมปี 2567 ในประเทศมีปริมาณเศษเหล็กอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านตัน และเศษเหล็กนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านตัน โดยราคาเศษเหล็กเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ต่างประเทศเฉลี่ยที่ 12,262 บาท/ตัน และในประเทศเฉลี่ยที่ 12,218 บาท/ตัน ซึ่งต้นทุนราคาเศษเหล็กในปัจจุบันยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ที่น่าห่วงคือ การแข่งขันในการจัดหาเศษเหล็กจะมีสูงมากขึ้น เนื่องจากโรงงานเหล็กประเภท Blast furnace ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีความกังวลในเรื่องของการปลดปล่อยคาร์บอน จึงหันมาลงทุนในเตาหลอมประเภท EAF (Electric Arc Furnace) ซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นเศษเหล็กมากขึ้น ตรงนี้จะเป็นตัวเร่งทำให้ราคาเศษเหล็กสูงขึ้น แต่การที่ WTX มีเครื่อง Shredder เอง และพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้มีความได้เปรียบ ไม่ต้องไปแข่งขันด้านราคาในประเทศมากนัก

  • หลายโจทย์ท้าทายธุรกิจ

นายประวิทย์ ประเมินว่า ในปีนี้ โจทย์หลัก ๆ ที่ท้าทายธุรกิจของ WTX มีหลายด้าน ไล่ตั้งแต่เรื่องการควบคุมราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่งและอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากสถานการณ์โลกในปัจจุบันทำให้ค่าขนส่งมีราคาสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบเพิ่มขึ้น รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากปัจจุบันวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ จำเป็นที่จะต้องมีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด รวมถึงการจัดหาแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ที่มีความมั่นคงและแน่นอน และการดำเนินธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืนตามแนวคิด ESG เนื่องจากธุรกิจปัจจุบันของบริษัทเป็นธุรกิจรีไซเคิล และธุรกิจโรงไฟฟ้า จึงจำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วยในการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทมากขึ้น รวมถึงการนำวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิตไปแปรรูป หรือเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรม อื่นๆ

  • เวสท์เทคฯลุย Non steel

ด้าน นายศุภมงคล มาโนช เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของเวสท์เทคฯในปี 2567 ว่า มีแผนเพิ่มกำลังการผลิต และปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ ที่มาจากการรีไซเคิลเศษเหล็กจากผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการ End of life vehicle (ELV) มากกว่า 50% พร้อมทั้งปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเชื้อเพลิง โดยเน้นการขายเชื้อเพลิงให้แก่ลูกค้าพันธมิตร และขยายฐานลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันในระบบมีการรีไซเคิลเศษเหล็ก โดยเศษเหล็กที่บริษัทใช้มาจากในประเทศมากกว่า 150,000 ตันต่อปี หรือสัดส่วน 60% และเศษเหล็กนำเข้ามากกว่า 100,000 ตันต่อปี หรือสัดส่วน 40% โดยเศษเหล็กที่ผ่านการรีไซเคิลแล้วขายต่อไปยังลูกค้าในกลุ่มของโรงหลอมเหล็กได้ทุกประเภทซึ่งสามารถใช้สินค้าของ เวสท์เทคฯ ได้ โดยสินค้าที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลของบริษัทเป็นเศษเหล็กที่มีคุณภาพและสามารถลดต้นทุนการผลิตของโรงหลอมได้ดี โดยคู่แข่งเวสท์เทคฯ ในประเทศจะไม่มีโดยตรง ส่วนใหญ่จะเป็นการบดย่อยเพื่อนำมาใช้เอง หรือใช้เศษเหล็กประเภทอื่น ๆ

ศุภมงคล มาโนช  เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด

“รายได้ของบริษัทฯ ปี2566 อยู่ที่ 2,600 ล้านบาท ประมาณการรายได้ปี 2567 คาดจะอยู่ที่ 3,200 ล้านบาท โดยเป็นสินค้าที่มาจากเหล็กสัดส่วน 90% และสินค้าที่ไม่ใช่เหล็ก (Non steel) อีก 10% ในอนาคตบริษัทจะมีการเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้าน Non steel โดยมีเเผนจะสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมในอนาคต และต้องการยกระดับขึ้นสู่ผู้นำธุรกิจรีไซเคิลครบวงจรในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอุตสาหกรรมตามหลัก Zero waste”

  • ต่อยอดธุรกิจผุดโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้แผนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะนี้ใช้เงินทุนรวม 3,800 ล้านบาท จำนวน 2 โรง หรือ 1,900 ล้านบาทต่อโรงไฟฟ้า ขนาด 9.9 MW และขายไฟฟ้าได้ 8.0 MW ตามสัญญา PPA โครงการตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ 1 (WHA1 )จังหวัดชลบุรี อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดจะสามารถจ่ายไฟได้ภายในปี 2569 และยังมีแผนขยายโรงไฟฟ้าอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจหลักคือ ธุรกิจกำจัดซากรถยนต์และรีไซเคิลครบวงจร อีกทั้งยังถือเป็นการยกระดับธุรกิจในกลุ่มให้มีการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืน ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Goverance: ESG)

ศุภมงคล มาโนช  เจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เวสท์เทค เอ็กซ์โพเนนเชียล จำกัด

  • จี้ลดขั้นตอนใช้ซากรถเก่า

สำหรับปัญหาหรืออุปสรรคที่เกิดขึ้นกับธุรกิจที่ทำในปัจจุบันของเวสท์เทคฯ  จะเป็นในส่วนของมาตรการในการรีไซเคิลรถเก่า ซึ่งทาง เวสท์เทคฯ ยังต้องเจอปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งรู้ว่าบนโลกนี้มันยังมีวัตถุดิบอีกจำนวนมากรวมถึงในประเทศไทยเองด้วย ซึ่งรถยนต์เป็นสินค้า Commodity (สินค้าโภคภัณฑ์) แต่บริษัทไม่หยุดที่จะต้องหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นมาซัพพอร์ตเพิ่ม

จะเห็นว่ารถเก่าในประเทศไทยนั้น เมื่อเสื่อมสภาพจะจอดทิ้งอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่ตามสถานีตำรวจ  ตลาดเชียงกง ซึ่งมีข้อมูลจดทะเบียนกับทางกรมการขนส่งทางบกว่ารถอายุเกิน 13 ปี มีมากถึง 10 ล้านคัน ที่ควรนำกลับมาทำลาย แต่ในไทยมีขั้นตอนมากและไม่ง่าย ขณะที่ต่างประเทศมีนโยบายชัดเจนว่ารถอายุ 10 ปีต้องนำไปทำลาย และให้ Incentive (แรงจูงใจ) กับผู้ใช้รถ โดยในไทยเองอาจมีนโยบายสนับสนุน แต่ยังไม่ได้มีผลออกมาบังคับแบบชัดเจน

ส่วนเรื่องของมลภาวะอยากให้ภาครัฐออกมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสิ่งเเวดล้อม เพราะการใช้เศษเหล็กที่สะอาด มีคุณภาพ จากเทคโนโลยีที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมจะช่วยได้ ซึ่งทาง เวสท์เทคฯใช้นวัตกรรมและเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพขั้นสูงในการคัดแยกวัสดุมีค่า เช่น เหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม หรือพลาสติกชิ้นใหญ่ ก่อนส่งต่อเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจหลักสำคัญ