ทุเรียนตราดราคาพุ่ง ทะลุ 270 บาท ตรวจเข้มคุณภาพล้งส่งออก

10 เม.ย. 2567 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 08:20 น.

ชาวสวนยิ้มออก ทุเรียนตราดทะลุ 270 บาท/กก. เกษตรจังหวัดเผยผลไม้ตราดราคาสูง เหตุมีคุณภาพ ขณะรองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ตรวจเข้มล้งทุเรียนส่งออกในเขต อ.เขาสมิง จี้ยึดคุณภาพ-คุณธรรม

นายวินัย ขยันยิ่ง เกษตรจังหวัดตราด เปิดเผยว่าจากข้อมูลพยากรณ์ของคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืช ของภาคตะวันออก ปี 2567 ครั้งที่ 2 (23 มกราคม 2567) พบว่าในปี  2567 จังหวัดตราด ปลูกทุเรียนทั้งหมด 109,144 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 48,091 ไร่ ผลผลิต 96,903 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 8.26 เนื้อที่ยืนต้นทุเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยปรับเปลี่ยนพืชอื่นจากยางพารา มังคุด เงาะ ลองกองและพื้นที่ว่างเปล่ามาปลูกทุเรียนทดแทน

ส่วนเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2562 เริ่มให้ผลผลิตใหม่ในปี 2567ได้เป็นปีแรกที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และดอกมีหลายรุ่นในหนึ่งต้น ทำให้เกิดการถีบกันของดอกต่างรุ่น และการกักโศกที่มากเกินทำให้ใบที่สะสมอาหารเหลือน้อยไม่พอต่อการเลี้ยงผลอ่อน ส่งผลให้ทุเรียนที่มีพัฒนาการออกดอกอยู่ในระยะหางแย้ ไม่สามารถพัฒนาเป็นระยะติดผลเล็กได้ 

ส่วนเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุเรียนที่ปลูกในปี 2562 เริ่มให้ผลผลิตใหม่ในปี 2567ได้เป็นปีแรกที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และดอกมีหลายรุ่นในหนึ่งต้น ทำให้เกิดการถีบกันของดอกต่างรุ่น และการกักโศกที่มากเกินทำให้ใบที่สะสมอาหารเหลือน้อยไม่พอต่อการเลี้ยงผลอ่อน ส่งผลให้ทุเรียนที่มีพัฒนาการออกดอกอยู่ในระยะหางแย้ ไม่สามารถพัฒนาเป็นระยะติดผลเล็กได้  

ทุเรียนตราดราคาพุ่ง ทะลุ 270 บาท ตรวจเข้มคุณภาพล้งส่งออก

นอกจากนี้ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ดอก ใบ และผลร่วง การสร้างผลทุเรียนไม่สมบูรณ์ มีขนาดได้น้ำหนักน้อย รูปทรงไม่สวยงาม ทุเรียนได้ผลผลิตไม่เต็มต้น บางส่วน เป็นโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อราไฟทอปธอร่า ประกอบกับมีต้นทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2567 เป็นปีแรกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก  ผลใหม่ปีแรก ผลผลิตต่อไร่ยังไม่มาก

คาดการณ์ว่า ทุเรียนจะมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง จากปี 2566 จากเดิมที่ได้ 2,102 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงประมาณ 9.66 เปอร์เซ็นต์ หรือลดลง 203 กิโลกรัม/ไร่ เหลือ 1,899 กิโลกรัม/ไร่ อย่างไรก็ตาม ราคาทุเรียนกลับมีราคาที่สูงขึ้น โดยทุเรียนหมอนทอง ราคา 270 บาท/กก. นับว่าสูงมากและไม่เคยสูงระดับนี้มาก่อน 

นายวินัย  กล่าวว่า ทุเรียนจังหวัดตราด เป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ออกก่อนจังหวัดอื่นๆทำให้ราคาสูงเป็นประวัติการณ์  ส่งผลให้เกษตรกรดีใจ โดยราคาทุเรียนหมอนทองอยู่ที่ 260-270 บาท/กก.,พันธุ์กระดุม ราคา 200-220 บาท/กก.ซึ่งในช่วงต้นเดือนมีนาคม ราคากระดุมสูงถึง 350 บาท/กก. และไต่ระดับมาถึงราคา 320-350 บาทมาถึงค่อนครึ่งเดือน และแม้จะมีทุเรียนหมอนทองออกมาแล้วแต่ราคาทุเรียนกระดุมก็มีราคาลดลงมาไม่มากและยังมีราคาสูงเหมือนเดิม
 

นายวินัย กล่าวว่าแนวโน้มต่อไป เมื่อถึงช่วงที่ทุเรียนออกมามาก ราคาก็ไม่น่าต่ำกว่า 150 บาท/กก.ซึ่งก็ยังมีราคาสูงอยู่ หากเทียบกับต้นทุนที่อยู่ที่ 30บาท/ก. ดังนี้น เพื่อให้เกษตรกรสามารถคงราคาทุเรียนได้อยู่ต้องยกระดับคุณภาพของทุเรียนให้มีคุณภาพเหมือนเดิม

ส่วนปัญหาทุเรียนอ่อนนั้นเกิดขึ้นทุกปี แต่จากการที่เข้าไปตรวจสอบตามสวนผลไม้ในแต่ละแห่งพบว่า แต่ละสวนได้ควบคุมคุณภาพของทุเรียนได้ดี และไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันทางสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดได้ร่วมมือกับทางสภาเกษตรกรจังหวัดตราดที่มีนายเรือง ศรีนาราง เป็นประธาน ซึ่งเป็นเกษตรกรดีเด่นระดับชาติได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทุเรียนไม่มีคุณภาพออกสู่ตลาด นอกจากนี้การกระจายการออกผลผลิตของทุเรียนในปีนี้ จะทยอยออกเป็นระยะซึ่งสามารถควบคุมคุณภาพและราคาได้เป็นอย่างดี 

ขณะที่นายณรงค์   เทพเสนา  รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด  พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการรวบรวมรับซื้อทุเรียน (ล้ง)   โดย ล้ง โกศล–ตู่  ตำบลทุ่งนนทรี  อำเภอเขาสมิง  ซึ่งเป็นโรงคัดบรรจุขนาดใหญ่ เป็นจุดรับซื้อทุเรียนหลักของจังหวัดตราดและได้รับใบรับรอง GMP  และได้ดำเนินการสุ่มตรวจประเมินคุณภาพผลผลิตทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่จะส่งออกจากล้งผลไม้แห่งนี้

พบว่ามีเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนหมอนทองที่สุ่มตรวจ มีค่า 36.5 เปอร์เซ็นต์แป้ง เกินกว่าค่าเฉลี่ยของเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนพันธุ์หมอน ที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ที่ 32 เปอร์เซ็นต์แป้ง  จึงมอบหนังสือรับรองให้กับผู้ประกอบการ   พร้อมกันนี้ได้ตรวจสอบการใช้เครื่องชั่งน้ำหนัก พบว่าถูกต้อง จึงให้เครื่องหมายคำรับรองตามพระราชบัญญัติมาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด  กล่าวว่า การดำเนินการในครั้งนี้เป็นหนึ่งในมาตรการควบคุมทุเรียนให้มีคุณภาพก่อนออกสู่ตลาด โดยเฉพาะทุเรียนส่งออก ซึ่งในปีนี้คาดว่าผลผลิตทุเรียนจะออกสู่ตลาดรวมทั้งหมดเกือบแสนตัน ดังนั้นมาตรการในการควบคุมทุเรียนคุณภาพออกสู่ตลาดจึงมีความสำคัญ

สำหรับล้งส่งออกผลไม้แห่งนี้เป็นล้งทุเรียนที่ส่งออกไปจีน  ดังนั้นการควบคุมคุณภาพของซึ่งทุเรียนในช่วงต้นฤดู ณ วันนี้มีราคาเกือบ 300 บาท/กก. ดังนั้นเกษตรกรซึ่งเป็นต้นน้ำในการผลิตทุเรียน ควรที่จะต้องคำนึงถึงเกณฑ์มาตรฐานก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อให้ทุเรียนจังหวัดตราดเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3982 วันที่ 11 –13 เมษายน พ.ศ. 2567