สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การออกดอกติดผลของผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง จันทบุรี ตราด) ประจำปี 2567 พบว่า ผลไม้ทั้ง 4 ชนิด มีปริมาณผลผลิตรวม 1,114,070 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 1,046,254 ตัน (เพิ่มขึ้น 67,816 ตัน หรือ 6.48%)
สำหรับผลไม้ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ มังคุด 42% รองลงมา เงาะ เพิ่มขึ้น 8% ลองกอง เพิ่มขึ้น 3% และทุเรียน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1% โดยผลผลิตไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะออกมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็น 51% ของผลผลิตทั้งหมด
นางสาวนริศรา เอี่ยมคุ้ย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี สศก. ระบุว่า ผลผลิตรวมของไม้ผลทั้ง 4 ชนิดเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้มีความเหมาะสมต่อการออกดอกและติดผลของมังคุด เงาะ ลองกอง จากการได้พักต้นสะสมอาหาร ซึ่งปีที่ผ่านมาออกดอกติดผลน้อย ส่วนทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากอัตราเนื้อที่ให้ผลทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการลดลงของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ซึ่งเนื้อที่เริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้นกว่า 38,000 ไร่
หากดูเฉพาะ "ทุเรียน" ผลไม้ยอดนิยมพบว่า ปริมาณเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 1% โดยมีเนื้อที่ยืนต้น 687,140 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 635,984 ไร่ (เพิ่มขึ้น 51,156 ไร่ คิดเป็น 8.04%) และมีเนื้อที่ให้ผล 424,724 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 390,177 ไร่ (เพิ่มขึ้น 34,547 ไร่ คิดเป็น 8.85%)
ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยปรับเปลี่ยนจากพืชอื่น เช่น ยางพารา มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ปาล์มน้ำมัน และพื้นที่ว่างเปล่า มาปลูกทุเรียนทดแทน จากปัจจัยด้านราคาและผลตอบแทนที่จูงใจต่อการลงทุน รวมทั้งความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งมีต้นทุเรียนที่ปลูกในระยะหลายปีที่ผ่านมา เริ่มให้ผลผลิตในปี 2567 ได้เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น จำนวน 38,849 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,843 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,991 กิโลกรัม (ลดลง 148 กิโลกรัม คิดเป็น 7.43%) เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ได้้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้การออกดอกติดผลไม่เต็มต้น ได้น้ำหนักเฉลี่ยต่อลูกลดลง
ประกอบกับมีต้นทุเรียนที่เริ่มให้ผลผลิต ปี 2567 เป็นปีแรกเพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณโดยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก จึงทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง ผลผลิตรวม 782,874 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีจำนวน 776,914 ตัน (เพิ่มขึ้น 5,960 ตัน คิดเป็น 0.77%) ภาพรวมปริมาณผลผลิตทุเรียนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามอัตราการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ให้ผลมากกว่าอัตราการลดลงของผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่
สวนทุเรียนบางพื้นที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดแต่งจำนวนผลต่อต้นลดลง ความสมบูรณ์ของผลทุเรียน ขนาดและรูปทรง ระยะการเก็บเกี่ยวผลผลิต สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตทุเรียน เริ่มทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2567 โดยจะออกสู่ตลาดกระจุกตัวมากที่สุดในเดือนพฤษภาคม 2567 คิดเป็นร้อยละ 53.20 ของผลผลิตทั้งหมด
ทั้งนี้ แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ ในปี 2567 ทั้ง 3 จังหวัด ได้กำหนดมาตรการควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) ออกสู่ตลาด โดยประกาศกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียน 4 สายพันธุ์ เพื่อสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนก่อนปิดตู้ส่งออก ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ทุเรียน มกษ. 3-2556 ของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และกรมวิชาการเกษตร (กวก.) รวมทั้ง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั้ง 3 จังหวัด ได้มีแนวทางการบริหารจัดการตลาดผลไม้รองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดไว้เรียบร้อยแล้ว