นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยเกษตรกร สวนทุเรียน และสวนผลไม้อื่น ๆ ที่ถูกผลกระทบจากภัยแล้ง ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแนวทาง แก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ของทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ
ทั้งนี้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อผลผลิตในภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน และไม้ผลอื่น ดังนั้นเพื่อป้องกันผลกระทบและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมวิชาการเกษตร จึงออกประกาศแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง ของทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ ดังนี้
เพิ่มความชื้นในทรงพุ่ม โดยการให้น้ำปริมาณอย่างน้อย 200 ลิตรต่อต้นต่อวัน ด้วยการพ่นน้ำ หรือติดสปริงเกอร์บนต้นทุเรียน พร้อมให้น้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ในช่วงเช้ามืดเวลา 6.00-8.00 น. หรือ ช่วงเย็น เวลา 15.00-17.00 น. และเพิ่มเวลาการให้น้ำมากกว่าในช่วงเวลาปกติ เพื่อเป็นการระบายความร้อน ลดอุณหภูมิของอากาศ และเพิ่มความชื้นให้กับต้นทุเรียน
นอกจากนี้ต้องรักษาความชื้นในดิน โดยการคลุมดินด้วยเศษหญ้า หรือวัสดุคลุมโคนต้นทุเรียนไม่ให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพราะจะกระตุ้นให้พืชแตกใบอ่อนส่งผลให้มีการใช้น้ำมากขึ้น ไว้ผลต่อต้นในปริมาณที่เหมาะสม ถ้ามีการติดผลมาก หากน้ำไม่เพียงพอแต่มีการติดผลมาก ต้องตัดผลทิ้งบางส่วน เพื่อให้ต้นอยู่รอด รวมทั้งตัดแต่งใบภายในทรงพุ่มออกเพื่อลดการคายน้ำ พ่นด้วยสารเพื่อลดความรุนแรงจากอากาศร้อนและแล้ง เช่น พ่นสารเคโอลิน (Kaolin) หรือดินขาวเคโอลิน ในอัตรา Kaolin 6% w/v อัตรา 1 กก./น้ำ 200 ลิตร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบในหลายจังหวัดพบว่าผู้ปลูกทุเรียนประสบปัญหาผลทุเรียนแตก เนื่องจากอุณหภูมิสูงกว่าปกติ และขาดน้ำในหลายพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร จึงได้เร่งประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ สำรวจความเสียหายจากเกษตรกร พร้อมเร่งให้ความรู้ทางวิชาการ และคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉิน ตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งของทุเรียนและผลไม้อื่นตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ