คลอดแล้ว "มาตรการชะลอเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง" ปี 2566/67 เริ่มวันนี้

14 พ.ค. 2567 | 23:02 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 04:45 น.

ครม. เห็นชอบ มาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/67 เริ่มต้นโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 30 เมษายน 2568 ธ.ก.ส. พร้อมจัดสินเชื่อกับเกษตรกร ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบมาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/67 วงเงินงบประมาณ 56.96 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ เริ่มต้นโครงการแล้วตั้งแต่วันนี้ไปจนถึง 30 เมษายน 2568 โดย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อกับเกษตรกร ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท หรือ ไม่เกิน 20 ไร่/ครัวเรือน ไร่ละไม่เกิน 2,500 บาท

สำหรับมาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/67 มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเกษตรกรให้ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการเพาะปลูก โดยการชะลอการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ผ่านพ้นช่วงแล้ง ให้ได้รับฝนซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นและเปอร์เซ็นต์แป้งสูงขึ้น

รวมทั้งช่วยเหลือให้เกษตรกรมีเงินหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนระหว่างรอการเก็บเกี่ยว โดยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรและยังไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตฤดูการผลิตปี 2566/67 ประมาณ 65,100 ครัวเรือน

สำหรับมีวิธีดำเนินการตามมาตรการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ปี 2566/67 ธ.ก.ส. จะเปิดให้เกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ จากนั้น ธนาคารจะตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกประเมินพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวและให้สินเชื่อแก่เกษตรกร ครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท โดยมีวงเงินสินเชื่อรวม 3,255 ล้านบาท

ระยะเวลาโครงการ 

  • เริ่มตั้งแต่วันที่ครม.มีมติอนุมัติ ถึง 30 เมษายน 2568

ระยะเวลาสมัครเข้าร่วมโครงการ 

  • ภายใน 30 มิถุนายน 2567

ระยะเวลาจ่ายสินเชื่อ 

  • เริ่มตั้งแต่วันที่ครม.มีมติอนุมัติ ถึง31 กรกฎาคม 2567

ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ย

  • เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันรับสินเชื่อแต่ไม่เกิน 31 มกราคม 2568

นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบการรักษาเสถียรภาพราคาหัวมันสด ปี 2566/67 เพื่อให้การกำกับดูแลมันสำปะหลังเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยมอบหมายคณะอนุกรรมการบริหารจัดการศัตรูมันสำปะหลังบริหารจัดการศัตรูมันสำปะหลังรับไปพิจารณาดำเนินการปรับแผนการขยายท่อนพันธุ์ให้ครอบคลุมพื้นที่ระบาดภายในปี 2569 ทั้งพันธุ์ต้านทานโรค (พันธุ์ที่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ติดโรค) และพันธุ์ทนทานต่อโรค (พันธุ์ที่มีความแข็งแรง ติดโรคได้ยาก แต่ยังติดโรคได้) 

รวมทั้งการส่งเสริมการเพาะปลูกด้วยระบบน้ำหยดเพื่อเพิ่มผลผลิตและรองรับการขยายท่อนพันธุ์ โดยจัดทำรายละเอียดโครงการ แผนดำเนินการกรอบวงเงินงบฯ และแหล่งเงินก่อนเสนอ คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ต่อไป

ขณะเดียวกันยังมอบหมายกรมศุลกากร กำกับดูแลการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งการนำเข้าทางด่านถาวรและจุดผ่อนปรน ให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานความร่วมมือหน่วยงานด้านความมั่นคง ป้องกัน สกัดกั้น การลักลอบนำเข้าทางช่องทางธรรมชาติอย่างเข้มงวด และให้กรมการค้าต่างประเทศ เข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่นำเข้าและส่งออกให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับสถานการณ์การผลิตและการตลาดมันสำปะหลังปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเมินว่า ณ เดือนมีนาคม 2567 โดยมีผลผลิตทั้งประเทศ 26.88 ล้านตัน ลดลง 3.74 ล้านตัน เนื่องจากขาดแคลนท่อนพันธุ์ สภาวะอากาศร้อน/แล้ง รวมทั้งเสี่ยงต่อการเกิดโรคใบด่าง เพลี้ยไฟ และเพลี้ยแป้ง โดยผลผลิตกระจุกตัวช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2567 ปัจจุบันเก็บเกี่ยวแล้ว 23.50 ล้านตัน

ส่วนราคาในประเทศ ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 มันสำปะหลัง เชื้อแป้ง 25% มีราคาอยู่ที่ 3.20 บาทต่อกิโลกรัม, มันเส้น มีราคาอยู่ที่ 7.43 และแป้งมัน มีราคาอยู่ที่ 18.85 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคามีแนวโน้มลดลงเนื่องจากเกษตรกรบางส่วนเร่งขุดผลผลิตที่ไม่ครบอายุออกจำหน่าย ประกอบกับสภาวะอากาศร้อนจัดส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงและมีเปอร์เซ็นต์เชื้อแป้งต่ำ สำหรับราคาส่งออกมันเส้นอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม และแป้งมันอยู่ที่ 20.59 บาทต่อกิโลกรัม