อุตสาหกรรมเหล็กไทย อุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศยังระสํ่าต่อเนื่อง จากเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศที่ส่งเข้ามาทุ่มตลาดในราคาตํ่า ซึ่งแม้ในปีที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ จะต่ออายุการใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กจากจีน มาเลเซีย บราซิล อิหร่าน และตุรกี ออกไปอีก 5 ปี แต่ ถึง ณ เวลานี้สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันยังมีสินค้าเหล็กจากต่างประเทศส่งเข้ามาจำหน่ายในลักษณะทุ่มตลาดต่อเนื่อง แม้กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้มาตรการเอดีเพื่อสกัดกั้นแต่ก็ยังเอาไม่อยู่ เนื่องจากสินค้าเหล็กนำเข้ามีการหลบเลี่ยงการถูกจัดเก็บภาษีเอดีในรูปแบบต่าง ๆ เช่น มีการดัดแปลงการผลิตเหล็กด้วยการเจือสารอัลลอย เพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรไม่ให้อยู่ในข่ายการถูกใช้มาตรการ AD นอกจากนี้จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ทำให้มีผู้ผลิตเหล็ก เช่นจากประเทศจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย
“ในปี 2566 การใช้กำลังผลิตเหล็กของผู้ประกอบการไทยลดเหลือ 30% และเวลานี้การใช้กำลังผลิตเหลือไม่ถึง 30% กระทบอุตสาหกรรมเหล็กของไทยที่มีมูลค่าประมาณปีละกว่า 5 แสนล้านบาท ถูกเหล็กต่างชาติเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยขายในราคาตํ่ากว่าเหล็กที่ผลิตในประเทศมากกว่า 10% เมื่อเปรียบเทียบการผลิตกับความต้องการใช้เหล็กในไทย พบว่ามีความต้องการมากกว่าการผลิตอยู่ราว 10 ล้านตัน ไทยจึงต้องนำเข้าเหล็กปีละมากกว่า 10 ล้านตัน แต่หากรวมการนำเข้าวัตถุดิบด้วย ไทยนำเข้าร่วม 20 ล้านตัน ใกล้เคียงกับการนำเข้าเหล็กของสหรัฐ และยุโรป”
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศให้อยู่รอด ส่วนหนึ่งมีข้อเสนอแนะรัฐบาลไทยในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ควรมีการกำหนดเงื่อนไขให้ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศในลักษณะเดียวกับประเทศอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และอื่น ๆ
ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าเหล็กจากหลายประเทศ ในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าจากจีนสัดส่วนประมาณ 30% ซึ่งการนำเข้าเหล็กจากจีนนับวันจะเพิ่มมากขึ้น โดยในแต่ละปีจีนมีกำลังผลิตเหล็กมากกว่า 1,000 ล้านตัน ในจำนวนนี้ใช้ในประเทศประมาณ 900 ล้านตัน เหลือส่งออกปีละกว่า 100 ล้านตัน แต่ปีนี้คาดจีนจะส่งออกเหล็กมากกว่า 200 ล้านตัน เนื่องจากยังมีปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความต้องการใช้เหล็กลดลง ขณะที่ล่าสุดจีนถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีเหล็กจากเดิมอีก 3 เท่า(จากเดิมเก็บ 7.5%) จึงคาดว่าเหล็กจีนจะถูกส่งมาทุ่มตลาดอาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยมากขึ้นในปีนี้
ด้าน นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ ได้ใช้มาตรการขึ้นภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) กับสินค้าเหล็กนำเข้าจากจีนและจากหลายประเทศ ขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการมีข้อมูลและหลักฐานที่ประเทศคู่ค้ามีการหลบเลี่ยงภาษีเอดี โดยมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตเหล็กเพียงเล็กน้อย เช่นมีการเจือสารอัลลอย และส่งเข้ามาจำหน่ายเพื่อเลี่ยงภาษีเอดี ก็สามารถร้องเรียนให้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Circumvention : AC) โดยเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้
“อย่างไรก็ดีในการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการ AC ต้องใช้งบฯสูงเพราะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปไต่สวนข้อมูลการผลิต และข้อมูลในทุกมิติของโรงงานในประเทศต้นทาง ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร ซึ่งทางกรมยังขาดงบในส่วนนี้ และอยากขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติม ที่ผ่านมาเราก็ไปมาแล้ว 3-4 โรงงานในจีน” นายรณรงค์ กล่าว