วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการนำเข้าทุเรียนสดของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2024 ล่าสุด (ข้อมูลจาก GTA) พบว่า จีนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 1 ปริมาณ 121,398 ตัน มูลค่า 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเวียดนามอันดับที่ 2 ปริมาณ 79,186 ตัน มูลค่า 369 ล้าน เหรียญดอลลาร์สหรัฐ
และข้อมูลสถิติการส่งออกทุเรียนสดของไทยในช่วง 4 เดือนล่าสุด (ม.ค.-เม.ย. 67) พบว่าไทยสามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้ถึง 225,204 ตัน (ข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากร) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสามารถมั่นใจได้ว่าไทยยังคงครองแชมป์การส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีน
ขณะที่ราคาทุเรียนไทยในปี 67 ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในตลาดจีนปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ย ราคาส่งออกกิโลกรัมละ 6 เหรียญดอลลาร์ หรือประมาณ 216 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายเชิงรุกของ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการนำของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ลงพื้นที่ ด่านโมหาน/บ่อเต็น และมอบหมายให้นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ด่านโหย่วอี้กวาน/หูหงิ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 ด่านเป็นด่านสำคัญในการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนโดยเส้นทางรถ บรรทุกและได้ประสานกับหน่วยงานศุลกากรตลอดจนบริษัทขนส่งซึ่งได้รับความมั่นใจว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่มีข้อกังวล
อีกทั้งยังเร่งทูตพาณิชย์ใช้ช่องทาง Influencers หรือ KOLs ในการเจาะขยายตลาดเมืองรองในประเทศจีน อาทิ เจียงซี ฝูเจี้ยน เฉิงตู เซี่ยเหมิน เป็นต้น ทำให้การส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีนเติบโตเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากนี้ ยังมีสถิติการส่งออกมะม่วง 4 เดือนแรก ของไทยไปยัง ประเทศเกาหลีโตขึ้น มากกว่า 230% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เกาหลีใต้ ขาดแคลนผลไม้ในประเทศและได้ยกเว้นภาษีการนำเข้ามะม่วงให้ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว เพราะฉะนั้น หากไทยสามารถเจรจาทวิภาคีไทย- เกาหลีใต้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และลดภาษีนำเข้ามะม่วงจากไทยให้เหลือ 0% (ปกติเสียภาษี 24-30%)
ในขณะที่คู่แข่งมะม่วงของไทยอย่างเปรู เวียดนาม กัมพูชา มี FTA แบบทวิภาคีกับเกาหลีใต้แล้วทั้งสิ้น ซึ่งแสดงถึงความชื่นชอบและโอกาสการส่งออกมะม่วงจากประเทศไทยยังมีอีกมาก