ส่องการค้า "เวียดนาม” เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โอกาสไทยส่งออกสินค้าการผลิต

01 มิ.ย. 2567 | 04:06 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2567 | 04:27 น.

กรมส่งเสริมกาค้าระหว่างประเทศ เผย การนำเข้าและส่งออกเวียดนาม ช่วง 5 เดือนแรกปี 67 ขยายตัวดี มีมูลค่า 270,820 ล้านดอลลาร์ โอกาสของไทยส่งออกสินค้ากลุ่มการผลิตไปเวียดนาม หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบเพื่อผลิตสินค้าส่งออก

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า จากสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม ตั้งแต่เดือน มกราคม – 15 พฤษภาคม 2567 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 138,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปี 2566 ในขณะที่การนําเข้า มีมูลค่าทั้งหมด 132,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.5% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 270,820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่าเพิ่มขึ้น 6,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากปีที่ผ่านมา

สำหรับตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีทั้ง 10 แห่งได้แก่

  • สหรัฐอเมริกา
  • สหภาพยุโรป
  • จีน
  • อาเซียน
  • เกาหลีใต้
  • ญี่ปุ่น
  • ฮ่องกง
  • อินเดีย
  • แคนาดา
  • ออสเตรเลีย

ซึ่งมีตลาดที่ใหญ่สุด 5 แห่งที่มีการเติบโตมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรป อาเซียน และฮ่องกง

ดร. Le Quoc Phuong อดีตรองผู้อํานวยการศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมและการค้า สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะถือว่ายังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ มีความผันผวนจากการแข่งขัน และปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ แต่ปีนี้คาดว่าการนำเข้าและส่งออกมีแนวโน้มเป็นบวกมากขึ้น ดังนั้นการนําเข้าและส่งออกจึงคาดว่าจะฟื้นตัวเล็กน้อย จากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เริ่มปรับตัวลดลง

ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของหลายประเทศได้หยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคาดว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม 2567 ประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่งจะลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งหมายความว่าในเวลานี้เศรษฐกิจโลกจะเริ่มค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเวียดนามขึ้นกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศส่งออก ดังนั้นความต้องการทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจะช่วยกระตุ้นการส่งออกและนําเข้าของเวียดนามมากขึ้น

นอกจากนี้ ตลอดปี 2565 และ 2566 เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลําบาก ทำให้มีการลดการนำเข้าในหลายประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่พยายามใช้สต๊อกสินค้าเดิมที่มีอยู่ ส่งผลให้สินค้าคงคลังหมดลงจนต้องนำเข้าอีกครั้ง และผลักดันความต้องการทั่วโลกให้เริ่มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้การส่งออกของเวียดนามในปัจจุบันเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค การนําเข้าและส่งออกต้องเผชิญกับความยากลําบากมากมาย เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อสูงส่งผลให้คำสั่งซื้อส่งออกลดลง ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลโดยประมาณการของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปี 2567 (ส.ค.- ธ.ค.) มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 156,500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% เมื่อเทียบกับปี 2566 การส่งออกไปยังตลาดข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ล้วนมีการฟื้นตัวที่ดี

จากการคาดการณ์การเติบโตส่งออกเวียดนามปี 2567 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT) คาดว่าการส่งออก ปี 2567 จะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากปี 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้คาดว่าจะมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและส่วนประกอบ สำหรับนำมาผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งจากสถิติการนำเข้า 5 เดือนแรกปี 2567 เวียดนามมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 จากปีที่ผ่านมา โดยไทยถือแหล่งนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบที่สำคัญของเวียดนาม

ในช่วงมกราคม – เมษายน 2567 การค้าระหว่างเวียดนามกับไทยมีมูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเวียดนามส่งออกสินค้าไปไทยมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนามนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าเวียดนามจะความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและส่วนประกอบเพื่อใช้ผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ตามคาดการณ์สถานการณ์การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้  เนื่องจากการความต้องกของตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัว และความต้องการนำเข้าสินค้าของตลาดสำคัญ ทำให้สินค้าในกลุ่มปัจจัยการผลิตของไทยมีโอกาสในการส่งออกมาเวียดนามเพิ่มขึ้น