รัฐบาล ปิดตาย จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 หลังอนุมัติ ปุ๋ยคนละครึ่ง

25 มิ.ย. 2567 | 08:45 น.

รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ประกาศยกเลิก “จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท” ไม่มีแล้วในรัฐบาลนี้ หลังจากครม. อนุมัติ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” โฆษกรัฐบาล ระบุโครงการเดิมเงินเข้ากระเป๋าเจ้าของที่ดิน ชาวนาไม่ได้ประโยชน์

วันนี้ (25 มิถุนายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงมติการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไทย หรือ ปุ๋ยคนละครึ่ง โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบฯ ชดเชยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ทำให้โครงการเดิมนั่นคือ โครงการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ไร่ละ 1,000 บาท นั้น รัฐบาลจะไม่มีการดำเนินการอีกต่อไป

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรายละเอียดว่า การดำเนินโครงการปุ๋ยคนละครึ่งครั้งนี้ จะเป็นนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือชาวนาในปี 2567 ส่วนนโยบายแทรกแซงปีก่อนที่ได้ทำโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท วงเงินกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท จะไม่ทำอีกต่อไป และมาทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่งแทน

"เหตุที่รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายจากการทำโครงการในปีที่แล้ว มาเป็นปุ๋ยคนละครึ่ง เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ปีที่แล้วที่ทำไร่ละ 1,000 บาท ปรากฎว่าเงินช่วยเหลือตกไปอยู่กับเจ้าของที่ดินเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ไปถึงมือชาวนาอย่างแท้จริง ปีนี้จึงทำโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ซึ่งรัฐบาลมั่นใจ 100% ว่าเงินจะถึงมือชาวนาอย่างแน่นอน" นายชัย ระบุ

รัฐบาล ปิดตาย จ่ายเงินชาวนาไร่ละ 1,000 หลังอนุมัติ ปุ๋ยคนละครึ่ง

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังรายงานต่อที่ประชุมครม.ด้วยว่า โครงการปุ๋ยคนละครึ่ง ได้มีการประชาสัมพันธ์ และแจ้งต่อชาวนาทั่วประเทศได้รับทราบรายละเอียดแล้ว ซึ่งก็ได้รับการเห็นชอบจากทุกฝ่าย ดังนั้นครม.จึงมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอเข้ามา

สำหรับโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ “ปุ๋ยคนละครึ่ง” ดำเนินการภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง

กลุ่มเป้าหมาย

เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน (เกษตรที่ปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 2 แสนครัวเนรือน พื้นที่ 1.20 ล้านไร) ทั้งนี้ ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ระยะเวลาดำเนินโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง 

  • ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568

วิธีดำเนินการและเงื่อนไขโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง

1. สนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาครึ่งหนึ่ง (เกษตรกรชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์อีกครึ่งหนึ่ง) ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท 

ทั้งนี้ ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และชีวภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

2. เกษตรกร 1 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกหลายพื้นที่ ใช้สิทธิ์รวมได้ไม่เกิน 20 ไร่ และไม่ซ้ำซ้อน ตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร

3. เกษตรกรต้องนำไปใช้จริง ห้ามนำไปจำหน่าย แจกจ่ายให้บุคคลอื่น

4. สหกรณ์การเกษตรต้องส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยหากเกษตรกรยังไม่ได้รับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ธ.ก.ส. จะคืนเงินที่เกษตรกรชำระทั้งหมดให้เกษตรกร

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  1. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ร้อยละ 10 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และมีอำนาจในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเกษตรกรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  2. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าวเพื่อตอนบสนองความต้องการของตลาด
  3. การใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดการหมุนเวียน และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกช้าวตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท) ได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท (เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีละ 54,300 ล้านบาท-29,980 ล้านบาท)