“เหล็กจีน” ตีตลาดโลก 5 เดือน 45 ล้านตัน กดไทยผลิตตํ่าสุดรอบ 7 ปี

27 มิ.ย. 2567 | 06:31 น.

เหล็กจีนตีตลาดโลกหนัก 5 เดือนแรก กว่า 45 ล้านตัน กดการใช้กำลังผลิตไทยต่ำสุดรอบ 7 ปี เหลือแค่ 29% สถาบันเหล็กฯคาดความต้องการใช้เหล็กในประเทศปีนี้อยู่ที่ระดับ 16.6 ล้านตัน นำเข้าเหล็กนอกแชร์ตลาด 10-11 ล้านตัน หวังพึ่งงบรัฐช่วยดันภาคก่อสร้าง เพิ่มความต้องการใช้เหล็ก

ข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตสะสมของผู้ผลิตเหล็กในประเทศของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 29.3 ลดลงเมื่อเทียบกับ 4 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 32.4 ซึ่งอัตราการใช้กำลังผลิตสะสมของผู้ผลิตเหล็กในประเทศช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ถือเป็นอัตราการใช้กำลังผลิตตํ่าสุดในรอบ 7 ปี (นับตั้งแต่ปี 2560)

นายวิโรจน์  โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การใช้อัตรากำลังการผลิตเหล็กที่ตํ่าของผู้ประกอบการไทยดังกล่าว มีปัจจัยลบที่สำคัญได้แก่ ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ปริมาณการนำเข้าสินค้าเหล็กที่มีการทุ่มตลาดจากต่างประเทศที่ส่งผลต่อความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการในประเทศ รวมถึงต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนพลังงาน

วิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ และดอกเบี้ยสูงของสถาบันการเงิน ทั้งสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และสินเชื่อยานยนต์ กระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลต่อภาคการผลิตและปริมาณความต้องการใช้เหล็ก ที่สำคัญยังเป็นผลจากนโยบายภาคอุตสาหกรรมเหล็กของจีน รวมถึงแนวโน้มปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กของจีน และการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กจากประเทศจีนของสหรัฐและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีผลต่อการระบายสินค้าเหล็กของจีนไปยังหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเพิ่มขึ้น

“ทั้งนี้ในครึ่งปีหลัง แม้รัฐบาลจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กำลังการผลิตเหล็กส่วนเกินของจีนยังมีอยู่สูง หากดูจากสถิติส่งออกเหล็กสำเร็จรูปของจีนล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีปริมาณรวมอยู่ที่ 44.65 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลในการกดดันการผลิตเหล็กในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทยในครึ่งปีหลัง”

“เหล็กจีน” ตีตลาดโลก 5 เดือน 45 ล้านตัน กดไทยผลิตตํ่าสุดรอบ 7 ปี

อย่างไรก็ดียังมีความหวังในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และภาคการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 80 ของการบริโภคเหล็กในประเทศ โดยภาคก่อสร้างมีความหวังจากการผ่านงบประมาณของภาครัฐ ที่รัฐบาลมีการสนับสนุนการใช้สินค้าภายในประเทศในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขณะที่การใช้เหล็กในภาคการผลิตยานยนต์เริ่มส่งสัญญาณแสดงถึงการชะลอตัว จากได้รับแรงกดดันของการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV)

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้เหล็กตลาดในประเทศของไทยปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 16.65 ล้านตัน หากใช้สัดส่วนการนำเข้าปี 2566 ที่ร้อยละ 60 ของการบริโภค คาดในปีนี้จะมีปริมาณการนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปราว 10-11 ล้านตัน (ตลาดเหล็กไทยมีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาทต่อปี) โดยตัวเลข 4 เดือนแรกปีนี้ไทยมีการนำเข้าเหล็กสำเร็จรูปแล้ว 3.7 ล้านตัน และผลิตเองในประเทศประมาณ 2 ล้านตัน

“ในแง่ผู้ประกอบการเหล็กไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง หลายโรงงานมีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี หลายโรงงานต้องปิดตัวไป เนื่องจากถูกแย่งตลาดจากสินค้านำเข้า ซึ่งเป็นแนวโน้มที่คล้าย ๆ กับกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย ผลกระทบที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการจ้างงาน เพราะอุตสาหกรรมเหล็กส่วนใหญ่จะจ้างแรงงานฝีมือ อาทิ ช่างเทคนิค วิศวกร พนักงานในสายการผลิตที่มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น” นายวิโรจน์ กล่าว