ราคายางพารายังคงมีความผันผวน ได้รับปัจจัยความท้าทายจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ที่ชะลอตัว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่ยังทรงตัว ขณะที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรป(อียู) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่น่าไว้ใจ จากปัจจัยข้างต้น คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) ได้มีมติเห็นชอบใน 3 มาตรการรับมือราคายางตก วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ราคายางของเกษตรกรยังคงมีเสถียรภาพ และอุตสาหกรรมยางพาราของไทยยังคงศักยภาพในการผลิตและสามารถแข่งขันได้มากขึ้น
นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ กยท. (ประธานบอร์ด) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวทางการรักษาเสถียรภาพราคายางจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อทำให้ราคายางพาราคาของไทยสามารถยืนระยะได้ ซึ่งทางบอร์ดได้มีมติเห็นชอบใน 3 มาตรการ วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาท
2.ขอขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 3.ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าการประชุม กนย. จะยังคงวันเวลาเดิมหรือไม่ หรือจะเลื่อนออกไป เนื่องจากเวลานี้รัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.)
“ปีที่แล้ว ไทยมีการส่งออกยางพารา ปริมาณ 4.7 ล้านตัน มูลค่า 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท ดังนั้นในการสร้างส่วนต่างราคาที่จะเพิ่มรายได้ให้กับชาวสวนยางนับจากนี้ คือการขับเคลื่อนมาตรการเพื่อรองรับกฎหมาย EUDR ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ 7 ประเภท ที่จะนำเข้าและส่งออกจากสหภาพยุโรป (EU) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2568”
ทั้งนี้ยางพาราเป็นหนึ่งใน 7 สินค้าเกษตรดังกล่าว ต้องปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่ายางพาราและผลิตภัณฑ์มาจากสวนยางที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องตามกฎหมาย ไม่อยู่ในพื้นที่ต้นนํ้า พื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ป่า รวมทั้งจะต้องมีการจัดการสวนยางพาราที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม กยท. ตั้งเป้าที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับตามกฎหมาย EUDR ได้ 100% จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดยางพาราในอียูได้มากขึ้น
นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอร์เรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ลูกค้าถุงมือยางจากมาเลเซีย จีน และเกาหลีใต้ ที่ต้องการจะส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในอียู จำเป็นต้องใช้นํ้ายาง EUDR โดยต้องเตรียมตัวสั่ง ตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไป ล่าสุดบริษัทได้เซ็นเอ็มโอยูกับ กยท.ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลเกษตรกร มีฐานข้อมูลทุกสวนที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. มีโฉนดมีเอกสารสิทธิ์ สามารถตรวจสอบได้ในพิกัด GPS เพื่อรับรองนํ้ายางสดเดือนละ 5,000 ตัน และบวกค่าพรีเมียมตั้งแต่ 2 บาทกว่าไปถึง 3 บาทกว่า จากราคาตลาด ขึ้นอยู่กับระยะทางขนส่ง โดยขายได้สูงกว่ายางทั่วไป
ขณะที่นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคายางอียูดีอาร์ มีส่วนต่างราคาถึง 10%-15% จากราคายางทั่วไป อย่างไรก็ดีบริษัทได้รับคำสั่งซื้อยางอียูดีอาร์ให้กับบริษัทจีน เกาหลีใต้ ที่มาตั้งบริษัทยางล้อในไทยและส่งสินค้าให้กับอียู โดยจะส่งมอบ ภายใน 2 สัปดาห์นี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายยางอียูดีอาร์ ไม่เกิน 2 หมื่นตันในปี 2567 จากยอดขาย 4 แสนตัน/ปี
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,020 วันที่ 22-24 สิงหาคม พ.ศ. 2567