นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้ส่งหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติได้โปรดพิจารณา ปัญหาราคายางพาราในขณะนี้ซึ่งในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ราคายางพาราอยู่ในระดับที่ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด ใกล้เคียง จะถึงกิโลกรัมละ 100 บาท (ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3) เป็นที่พอใจของชาวสวนยาง
ในอดีตชาวสวนยางขายยางได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมาโดยตลอดจนกระทั่งมีชาวสวนยาง ทยอยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่คาดว่าจะมีอนาคตมากกว่ายางพาราเช่น หันไปปลูกทุเรียนและปาล์มน้ำมันเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมิถุนายน จนถึงปัจจุบันราคายางพาราแผนดิบรมควันชั้น 3 ปรับตัวลงมา 12.16 บาท จากเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ราคายางแผ่นรมควัน อยู่ที่ 85.39 บาท/กก. ขณะที่ราคาปัจจุบัน อยู่ที่ 73.23 บาท/กก. ทางสมาคม จึงได้เคราะห์สาเหตุของปัญหาที่ชาวสวนยาง ขายยางได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตมาโดยตลอดโดยมีข้อสรุปดังนี้
1. การซื้อขายยางในเวทีตลาดโลกขึ้นอยู่กับ demand และ supply ถ้า supply มากกว่า demand ราคาก็จะปรับลดลงและถ้าsupply น้อยกว่าdemand ราคาก็จะปรับขึ้นเป็นเรื่องปกติของหลักการตลาด 2. กรณีผลผลิต ( supply) มากกว่าความต้องการ (demand) ผู้ซื้อก็ย่อมจะเลือกซื้อจากประเทศผู้ขายที่เสนอในราคาต่ำสุด เป็นเรื่องปกติของการตลาด และสุดท้าย ประเทศไทยมีนทุนการผลิต ระดับชาวสวนสูงกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศอื่น แต่ไทยจำเป็นต้องขายยางให้สูงกว่าต้นทุนจึงจะมีกำไรแต่ประเทศผู้ซื้อ จะเลือกซื้อยางจากประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายคือผู้ซื้อและผู้ขายหมายถึงผู้ขายมีกำไรเพราะต้นทุนต่ำกว่าราคาขาย ผู้ซื้อพอใจที่จะเลือกซื้อยางจากผู้ขายในราคาที่ต่ำ
ด้วยเหตุนี้ สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จึงประชุมคณะกรรมการสมาคมมีความเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลต้องรีบหาวิธีแก้ปัญหาให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศต้นทุนการผลิต อยู่ที่ 65.59 บาทต่อกิโลกรัม และจะต้องให้มีการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนของไทยกับของประเทศอื่นที่ปลูกยาง
นายอุทัย กล่าวว่า ถ้าไทยไม่รีบแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิต ระดับชาวสวน ไทยจะเสียโอกาสที่จะเป็นประเทศผู้ปลูกยางมากที่สุดในโลกอีกต่อไป ด้วยเหตุผล 1, ชาวสวนยางของประเทศไทย จะหันไปปลูกพืชอื่นแทนทำให้เนื้อที่สวนยางของไทยจะลดลง,2. ประเทศผู้ปลูกยางอื่นจะมีโอกาสแซงไทยเป็นผู้ปลูกยางรายใหญ่เช่น ประเทศในอาฟริกา มีการขยายพื้นที่ปลูกยาง ด้วยการใช้เทคโนโลยีและ AI ต้นทุนการผลิตจะต่ำ ขณะนี้ประเทศผู้ใช้ยางก็เริ่มหันไปซื้อยางจากประเทศปลูกยางในอาฟริกาแล้ว และ 3.แม้ว่าไทยจะเป็นผู้ปลูกยางรายใหญ่ก็ตาม ประเทศผู้ใช้ยางนอกจากจะหันไปซื้อยางจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตในระดับต่ำแล้วปัจจุบันยางสังเคราะห์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าก็จะ เข้ามาแทนที่ยางธรรมชาติ
สุรปมติของสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยขอเสนอต่อประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเพื่อรีบเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนดังนี้
1. ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รีบเปลี่ยนพันธุ์ยางที่เกษตรกรชาวสวนยางจะปลูกแทนหรือปลูกใหม่ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 โดยยึดพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนลดลงได้เพราะพันธุ์ยางใหม่ๆที่วิจัยโดยสถาบันวิจัยยางการยางแห่งประเทศไทยมีผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ยางที่ชาวสวนยางปลูกไปแล้วถึงเท่าตัวซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำเทียบเคียงกับประเทศอื่นได้
2.รัฐบาลสนับสนุนปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ยที่มีคุณภาพและราคาถูกซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงได้ซึ่งรัฐบาลได้ใช้มาตรการปุ๋ยคนละครึ่งกับการปลูกข้าวแล้ว
3. กรณีสวนยางที่ปลูกยางไปก่อนแล้วด้วยพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำเช่นปลูกพันธุ์RRIM600 แต่ก็ไม่อาจจะโค่นทิ้งได้ทันทีเพราะยังให้ผลผลิตน้ำยางอยู่รัฐบาลควรนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เช่นการนำฮอร์โมนเพิ่มผลผลิตที่มีงานวิจัยรองรับและกยท. ก็ได้มีการสาธิตเป็นแปลงตัวอย่างมาแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึงและยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง จึงถือว่ายังไม่ได้แก้ปัญหาแบบเบ็ดเสร็จตลอดจนสนับสนุนปุ๋ยเช่นเดียวกับข้อ 1 รวมทั้งนำระบบ AI มาปรับใช้กับสวนยางด้วย
"สมาคมฯขอนำเรียนว่าหากแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ผลผลิตระดับชาวสวนก็จะเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่าซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตระดับชาวสวน สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นผู้ที่ปลูกยางได้ เมื่อถึงเวลานั้นประเทศผู้ใช้ยางก็จะหันมาซื้อยางจากไทย ซึ่งเป็นยางที่มีคุณภาพและต้นทุนการผลิตระดับชาวสวนเท่ากับหรือต่ำกว่าประเทศอื่นนอกจากนั้นการที่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลผลิตในภาพรวมของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเท่าตัว ทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น และเชื่อว่าหากมีการแก้ปัญหาตามที่เสนอข้างต้นจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพซึ่งเป็นหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 มาตรา 8(4) ที่กำหนดไว้ว่า“ดำเนินการให้ระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ” จะยั่งยืนทำให้ชาวสวนมีรายได้ 3 เท่า ใน 4 ปีตามนโยบายรัฐบาล" นายอุทัย กล่าวย้ำในตอนสุดท้าย