"ธรรมนัส - อรรถกร" ลงพื้นที่ แจกถุงยังชีพ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม พะเยา-น่าน

23 ส.ค. 2567 | 10:56 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2567 | 15:44 น.

รมว.ธรรมนัส – รมช. อรรถกร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมมอบถุงยังชีพ และให้กำลังใจผู้ประสบภัยน้ำท่วม พะเยาและน่าน

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพะเยา พร้อมมอบถุงยังชีพและตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัยในพื้นที่ ได้แก่ บ้านร่องไฮ หมู่ที่ 1 ต.แม่ใส อ.เมืองพะเยา โดยมีจำนวนครัวเรือนได้รับผลกระทบ 250 ครัวเรือน และชุมชนท่าวังควาย บ้านแม่ต๋ำ อ.เมืองพะเยา มีจำนวนครัวเรือนได้รับผลกระทบ 300 ครัวเรือน

\"ธรรมนัส - อรรถกร\" ลงพื้นที่ แจกถุงยังชีพ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม พะเยา-น่าน

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย, พะเยา, แพร่ และน่านนั้น ได้กำชับให้ส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด

โดยขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมูลนิธิธรรมนัส พรหมเผ่า จัดตั้งโรงครัวผลิตอาหารและแจกจ่ายถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัด ดังนี้

1. จังหวัดเชียงราย ข้าวกล่อง 500 กล่อง ถุงยังชีพ 500 ชุด

2. จังหวัดพะเยา ข้าวกล่อง 300 กล่อง ถุงยังชีพ 700 ชุด

3. จังหวัดแพร่ ข้าวกล่อง 1,000 กล่อง ถุงยังชีพ 200 ชุด

4. จังหวัดน่าน ข้าวกล่อง 300 กล่อง ถุงยังชีพ 500 ชุด

\"ธรรมนัส - อรรถกร\" ลงพื้นที่ แจกถุงยังชีพ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม พะเยา-น่าน

ขณะที่ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน พร้อมมอบถุงยังชีพและเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยในพื้นที่ 4 ตำบล ได้แก่ ต.เชียงกลาง ต.เปือ อ.เชียงกลาง ต.แงง ต.เจดีย์ชัย อ.ปัว และ ต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา ซึ่งจังหวัดน่านได้เกิดฝนตกหนักในระหว่างวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2567

ทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ พี่น้องประชาชนได้รับความเสียหาย รวมถึงพื้นที่เกษตร ประมง และปศุสัตว์ โดยน้ำได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งช้าง อ.เชียงกลาง อ.ปัว อ.ท่าวังผา อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.บ่อเกลือ อ.เมืองน่าน อ.ภูเพียง อ.สันติสุข อ.บ้านหลวง และ อ.เวียงสา

ณ วันที่ 23 ส.ค. 2567 มีรายงานผลกระทบด้านการเกษตร ด้านพืช มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด 9 อำเภอ 54 ตำบล คาดการณ์พื้นที่เสียหายทั้งหมด 4,277 ไร่ จำแนกเป็น ข้าว 2,915 ไร่ พืชไร่ 1,257 ไม้ผลไม้ยืนต้น 102 ไร่

\"ธรรมนัส - อรรถกร\" ลงพื้นที่ แจกถุงยังชีพ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม พะเยา-น่าน

ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ 8 ตำบล 25 หมู่บ้าน เกษตรกร 1,051 ราย จำแนกเป็น โค 1,386 ตัว ไก่ 36,747 กระบือ 1 ตัว สุกร 1 ตัว แพะ 36 ตัว รวม 38,171 ตัว และแปลงหญ้า 652 ไร่  และอยู่ระหว่าสำรวจความเสียหายที่แท้จริง (หลังน้ำลด)

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำน่าน ปัจจุบัน 23 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่สถานีวัดน้ำ N.64 บ้านผาขวาง อ.ท่าวังผา จ.น่าน ล่าสุดปริมาณน้ำเริ่มลดลง ขณะที่สถานีวัดน้ำ N1 สะพานพัฒนาภาคเหนือ อ.เมือง จ.น่าน มีแนวโน้มลดลง ส่วนสถานีวัดน้ำ N13A บ้านบุญนาค อ.เวียงสา จ.น่าน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

โครงการชลประทานน่าน รายงานว่าแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากมีฝนตกสะสมและต่อเนื่องในพื้นที่ โดยได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ คาดการณ์สถานการณ์ยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมา จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 5 - 7 วัน

\"ธรรมนัส - อรรถกร\" ลงพื้นที่ แจกถุงยังชีพ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม พะเยา-น่าน

ด้านการดำเนินการช่วยเหลือ

1. เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงอำเภอ สำรวจความเสียหายด้านการเกษตรช่วงเกิดภัยและภายหลังน้ำลด พร้อมทั้งชี้แจงการดำเนินการในขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป          

2. โครงการชลประทานน่าน ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 14 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ณ สะพานพัฒนาภาคเหนือ เพื่อช่วยสูบน้ำระบายในพื้นที่เศรษฐกิจ (เทศบาลเมืองน่าน)

3. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน ประสานงานกำหนดจุดอพยพสัตว์ให้พร้อมในพื้นที่เสี่ยง และดำเนินการจัดแบ่งทีมเข้าช่วยเหลือเร่งด่วน

4. ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดน่าน ได้เฝ้าระวังและเตรียมการรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการประสานงานผ่านทาง LINE  กับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดน่าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะร่วมแรงร่วมใจกับทุกหน่วยงานเพื่อเข้าช่วยเหลือด้วยจิตอาสาตลอดสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมทรัพยากรสนับสนุน รถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 1 คัน รถเครน จำนวน 1 คัน เครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 11 เครื่อง สำรองเมล็ดพันธุ์ จำนวน 1.90 กิโลกรัม (กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว และพริก) เสบียงพืชอาหารสัตว์ จำนวน 23 ตัน และเวชภัณฑ์ยาสัตว์ และหน่วยบริการเกษตร / ประมง / ปศุสัตว์ และหน่วยเฉพาะกิจเคลื่อนที่