นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์นํ้าท่วมรุนแรงอย่างรวดเร็ว จะเป็นช่วงเวลาที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและวุ่นวาย หลายครอบครัวต้องเอาชีวิตรอด ขนข้าวของสำคัญ สิ่งที่ต้องทำ คือ ตั้งสติให้ดี คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น การอพยพหลบหนี การระวังเรื่องไฟฟ้า แล้วค่อยคิดทางออกเป็นขั้นเป็นตอนจากง่ายไปยาก
ตลอดจนลดความกังวลโดยติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากแหล่งข่าวสำคัญของท้องถิ่นหรือของทางราชการ เพื่อลดข่าวลือที่ผิดๆ สำหรับผู้มีโรคประจำตัว ขอให้จัดเตรียมยาที่ต้องรับประทานเป็นประจำไว้ใกล้ตัวเพื่อให้หยิบง่ายหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
กรมสุขภาพจิตมอบทีมในพื้นที่ดำเนินการใน 4 ส่วน คือ 1.จัดทีมเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ดังกล่าว ร่วมกับทีม MCATT ในพื้นที่ 2.เฝ้าป้องกันกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีความอ่อนไหวเสี่ยงต่อการปัญหาจิตใจกลุ่มผู้ช่วยเหลือ 3.ค้นหา ส่งต่อ เฝ้าระวัง ดูแลผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ขาดยาเด็ดขาด และ4.เฝ้าระวังผู้ป่วยติดสุรา ยาเสพติดเตรียมยาป้องกันอาการลงแดง
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทีมบุคลากรทางการแพทย์ เตรียมความพร้อมในการให้บริการผู้ป่วยผ่านระบบ Telepsychiatry ด้วย พร้อมสำรองเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็นเพื่อเตรียมจัดส่งให้ผู้ป่วยที่อาจขาดยา ผู้ป่วยที่ไปตามนัดไม่ได้ขอให้แจ้ง อสม./รพสต.ในพื้นที่ โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์พงศ์เกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกคนสามารถช่วยดูแลจิตใจกันได้ ด้วยหลัก 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อ เชื่อมโยง
1.สอดส่อง โดยการสังเกตพฤติกรรม อารมณ์ ของคนรอบข้าง และคนใกล้ชิด เช่น เหม่อลอย เศร้า ไม่พูด
2.ใส่ใจรับฟัง โดยสื่อสารด้วยภาษากาย การโอบกอดเพื่อให้รู้สึกสงบขึ้น
3.ส่งต่อเชื่อมโยง ถ้าพฤติกรรมไม่ดีขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจอย่างถูกวิธี ที่สำคัญอย่าใช้สุรายาเสพติดมาเป็นทางออกของการจัดการความเครียด และควรตั้งสติ คิดวางแผนแก้ไขปัญหา อย่าหมดกำลังใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ส่วนกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว ติดตามประกาศเตือนภัย กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว และวางแผนการขนย้าย ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของชีวิตตนเองและครอบครัวไว้ การทำตามแผนที่รอบคอบจะช่วยลดความสับสน ตื่นตระหนกลงได้
นายแพทย์กิตติ์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิต และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง ในช่วงวันที่ 24-30 สิงหาคม 2567 ตามประกาศเตือนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมสุขภาพจิตได้เป็นห่วงและสั่งการให้โรงพยาบาลจัดทีมเฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชม.มีการบูรณาการในพื้นที่ให้บริการประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้อย่างต่อเนื่องและทันท่วงที
เตรียมทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ (MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ ให้พร้อมลงปฏิบัติงานดูแลจิตใจแก่ผู้ประสบภัย ในกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติการรักษาโรคทางจิตเวช ใช้สารเสพติด ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักและทรัพย์สิน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็ก กลุ่มผู้ที่ต้องการบริการด้านสุขภาพจิต ตลอดจนช่วยเหลือเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายทุกราย ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย จะมีหลักสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่
1.การทําให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัย ตั้งแต่การให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสม การให้ที่พักพิง รวมถึงการเข้าถึงความต้องการพื้นฐานต่าง ๆ
2.การทําให้รู้สึกสงบผ่อนคลาย ได้แก่ การรับฟังอย่างเข้าใจการให้ข้อมูลการให้คําปรึกษาเบื้องต้นตลอดจนการคลายเครียดต่าง ๆ
3.การช่วยเหลือ จัดการ ให้มีการติดต่อสื่อสารกันอย่างสมํ่าเสมอ โดยเฉพาะครอบครัว และการช่วยเหลือต่าง ๆ
4.การสร้างความหวังที่เป็นไปได้ เช่น การประสานงานให้ได้รับการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ และอื่นๆ การให้ข้อมูล
5.การส่งเสริม กระตุ้น บุคคล หรือชุมชน ในการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา ฟื้นฟู และช่วยเหลือกันและกันซึ่งขอให้พึงระลึกเสมอว่าภายใต้ภัยพิบัติ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะเกิดพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ช็อค เสียใจ หงุดหงิด วิตก นอนไม่หลับ ถือเป็นการตอบสนองของร่างกายและจิตใจตามปกติที่เกิดขึ้นและจะค่อย ๆ ลดลงจนหายไปเมื่อเวลาผ่านไป
ถ้ายังพบผู้มีความเครียดสูง ซึมเศร้า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย สามารถขอคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตในพื้นที่ เพื่อรับคำปรึกษา และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีต่อไป