วันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไข่ไก่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด ครั้งที่ 1/2567 ได้พิจารณาการกำหนดมาตรการสำหรับผู้ผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) เชิงอุตสาหกรรม แผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS) ปี 2568 และการรับรองคุณสมบัติของกรรมการภาคเอกชนในเอ้กบอร์ด
แหล่งข่าวจากกรมปศุสัตว์ ในฐานะเลขานุการเอ้กบอร์ด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนการนำเข้าเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ (GP และ PS) ปี 2568 ประกอบด้วย ไก่ไข่ปู่ย่าพันธุ์(GP) จำนวน 3,800 ตัว ไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์ (PS) จำนวน 440,000 ตัว ซึ่งแนวทางการจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์จำนวน 16 บริษัท ให้โควตาแต่ละบริษัทเท่ากับปี 2567 ซึ่งจะส่งเรื่องเข้าเอ้กบอร์ดภายในธันวาคมนี้
“เมื่อผ่านที่ประชุมเห็นชอบแล้ว หลังจากนั้นจะส่งเรื่องต่อให้คณะอนุกรรมการช่วยกลั่นกรองอีกครั้งเพื่อให้การพิจารณามีความรอบคอบ เพราะหากมีมติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอาจจะกระทบถึงส่วนรวมได้”
นอกจากนี้ในที่ประชุมผู้แทนสหกรณ์ไข่ไก่ ได้สะท้อนปัญหาถึงเกษตรกรรายย่อยมีส่วนทำให้ไข่ไก่ล้นตลาด ทั้งที่สัดส่วนของผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยมีน้อย รวมกันไม่ถึง 9 ล้านตัว หรือไม่ถึง 20% ของปริมาณไข่ไก่ทั้งประเทศ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นสาเหตุ และการที่ยืดอายุการเลี้ยงไก่ไข่มากว่า 80 สัปดาห์ เนื่องจากหาลูกไก่ไข่เข้าเลี้ยงยากขึ้น เพราะบริษัทขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้น และถูกตัดโควตาพันธุ์สัตว์ รอคิวยาวนาน แถมลูกไก่มักจะได้ตัวเล็ก หรือเป็นไก่ตัวผู้
ดังนั้นเพื่อผลักดันให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายเล็กอยู่ต่อได้ จึงเสนอให้มีการจัดโควตาสำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยโดยขอแบ่งโควตา จาก 440,000 ตัวให้กับ 5 สหกรณ์ไก่ไข่ อาทิ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด เป็นต้น
“จากปัญหาดังกล่าว มีบริษัทที่ขายอุปกรณ์การเลี้ยง ได้มีการชักชวนนักลงทุนมาสร้างเล้าและขายพ่วงพันธุ์สัตว์ เกรงว่าจะมีปัญหาในรุ่นถัดไปไม่มีพันธุ์สัตว์แล้วจะมาร้องเรียนทำให้เกิดปัญหาตามมา จึงอยากให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบ เพราะเกรงเกษตรกรจะตกเป็นเหยื่อโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากคิดว่าจะได้พันธุ์สัตว์ต่อเนื่อง”
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในปี 2567 ไทยมีแผนการนำเข้า PS เข้าเลี้ยง 440,000 ตัว 7 เดือนมีการนำเข้าเลี้ยงแล้ว 246,550 ตัว คิดสัดส่วน 56.03% จำนวนไข่ไก่ยืนกรง 52.88 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.89 ล้านฟองต่อวัน และมีการส่งออกปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) มีการส่งออกไข่ไก่สด 215.99 ล้านฟอง มูลค่า 884.16 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.68 และ 18.52 ตามลำดับ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และประเทศอื่นๆ
สำหรับสถานการณ์ราคาไข่ไก่ ณ วันที่ 21 ส.ค. 2567 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ฟองละ 4 บาท ลูกไก่ไข่ตัวละ 28 บาท ไก่ไข่รุ่นตัวละ 175 บาท คาดการณ์ต้นทุนไข่ไก่ในไตรมาส 2 /2567 เฉลี่ยฟองละ 3.60 บาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเฉลี่ยที่ฟองละ 3.72 บาท โดยพบว่าต้นทุนปรับลงลงจากราคาอาหารสัตว์มีแนวโน้มปรับตัวลดลงร้อยละ 6.89
ด้านนายสมชัย ตรัยมงคลกูล รองประธานชมรมผู้ค้าไข่กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันราคาไข่ไก่ยังทรงตัว จากเศรษฐกิจยังไม่ดี คนส่วนใหญ่ต้องการประหยัดเงินก็หันมาบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น ซึ่งราคาไข่ไก่ควรจะดีกว่านี้แต่จากเศรษฐกิจไม่ดี ผู้เลี้ยงจะปรับราคาขึ้นก็กลัวว่าผู้บริโภคจะรับไม่ได้ ทางฟาร์มจึงต้องตรึงราคาต่อ อย่างไรก็ดีช่วงเทศกาลกินเจทุกปีมีผลทำให้การบริโภคไข่ไก่ลดลง (ปีนี้ตรงกับวันที่ 3-11 ต.ค. 2567) และทำให้ราคามีแนวโน้มตกตํ่า เชื่อว่าทุกฝ่ายทั้งฟาร์มเลี้ยง และหน่วยงานต่าง ๆ น่าจะเตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,021 วันที่ 25 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2567